รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาท “สคร.” ติดตามใกล้ชิด

26 มิ.ย. 2567 | 10:02 น.
อัพเดตล่าสุด :26 มิ.ย. 2567 | 10:03 น.

สคร. รายงานผลการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ มูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 125% พร้อมเร่งรัด ติดตามใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า รัฐวิสาหกิจที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรงและมีการเบิกจ่ายงบลงทุน มีจำนวน 43 แห่ง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีบัญชีตามปีงบประมาณ (รัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ) และรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีบัญชีตามปีปฏิทิน (รัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน) โดยในปี 2567 รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบลงทุนจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 131,584 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 125 ของแผนการเบิกจ่าย

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ทั้งนี้ ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบลงทุน ได้แก่

  • รัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 - เดือนพฤษภาคม 2567) 34 แห่ง จำนวน 72,187 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 106 ของแผนการเบิกจ่าย
  • รัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน (เดือนมกราคม 2567 - เดือนพฤษภาคม 2567) 9 แห่ง จำนวน 59,397 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 161 ของแผนการเบิกจ่าย

สำหรับรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณที่เบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของแผนการเบิกจ่ายและมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการประปานครหลวง

ส่วนรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินที่เบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของแผนการเบิกจ่ายและมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ เดือนพ.ค.67

“ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ร้อยละ 51 ของกรอบงบลงทุนทั้งปี แบ่งเป็นผลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 8 เดือน คิดเป็นร้อยละ 63 ของกรอบงบลงทุนทั้งปี และผลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 5 เดือน คิดเป็นร้อยละ 42 ของกรอบงบลงทุนทั้งปี ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน ส่งผลให้ในภาพรวมมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ สคร. จะกำกับติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมายและเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญสามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ

  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะของ รฟม.
  • แผนร่วมทุนในบริษัท LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) บ้านหนองแฟบ ของ กฟผ.
  • โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ของ รฟท.