เกียรติ แนะ เร่งประกาศ One map "ทับลาน" ไม่เอื้อนายทุน-อุทยานไม่ติดคุก

10 ก.ค. 2567 | 07:39 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 12:41 น.

เกียรติ สิทธีอมร" อดีตกมธ.พิจารณาการจัดตั้งคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ แนะ เร่ง ประกาศ One map "ทับลาน" 2.65 แสนไร่ คืนสิทธิชาวบ้าน 400 คดี - อุทยานไม่ติดคุก ยืนยัน ไม่ปล่อยผี นายทุน ตั้งข้อสังเกตุ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่ชอบหรือไม่

วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตกรรมาธิการพิจารณาการจัดตั้งคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีกระแสคัดค้านการประกาศปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ "One Map" บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติ "ทับลาน" เนื้อที่ 2.65 แสนไร่ ว่า ต้องย้อนกลับไป มีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องและปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะอะไร 

นายเกียรติกล่าวว่า ประการแรก ต้องกลับไปดูพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พ.ศ.2518 เขียนไว้ชัดเจนว่า ที่ดิน ส.ป.ก.เมื่อตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แล้ว ถือว่า "เพิกถอนเจ้าของเดิม" ไม่ว่าจะเป็นกรมธนารักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  กรมป่าไม้ เพิกถอนทั้งหมด แต่หน่วยงานราชการไม่เคยไปปรับแผนที่ตัวเองจึงถือเป็นการ "ทำผิดกฎหมาย" 

นายเกียรติกล่าวว่า สาเหตุที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ปรับแผนที่ของตัวเองให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ส.ป.ก.ปี 2518 เพราะงบประมาณที่ได้รับเป็นไปตามขนาดพื้นที่ที่หน่วยงานนั้นรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา เมื่อไม่มีการปรับแผนที่และไม่มีใครท้วงติงจึงใช้แผนที่ของหน่วยงานตัวเองมาโดยตลอด  

เจ้าหน้าที่รัฐเสี่ยงโดนฟ้อง ป.อาญา ม.200 

อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย หรือ "รัฐบาลชวน 2" กล่าวว่า ต่อมาเมื่อปี 2542 ได้ให้มีการสำรวจพื้นที่ร่วม ซึ่งต่อมาเรียกว่า "แนวสำรวจร่วมปี 43" และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลชวน 2 พ้นวาระ ตั้งแต่รัฐบาลยุคทักษิณไม่มีการตราเป็นกฎหมาย พ.ร.ฎ. ทำให้แนวสำรวจร่วมเมื่อปี 43 ไม่มีผลบังคับใช้ ทั้งที่มีมติครม.สมัยรัฐบาลชวน 2 รองรับแล้ว แต่ไม่มีรัฐบาลไหนทำ

ขณะนี้พื้นที่ที่มีการฟ้องร้อง "ทับลาน" ทั้งหมด เฉพาะวังน้ำเขียวมี 400 กว่าคดี เป็นการดำเนินคดีโดยใช้แผนที่เดิมที่ไม่มีการปรับตามแนวสำรวจร่วมปี 43 ทั้งสิ้น ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่รัฐเอาความผิดทางอาญาไปข่มขู่ชาวบ้านนั้น มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกมากกว่า มาตรา 157 

"ตอนนี้อุทยานฯออกมาไล่ล่ารายชื่อคนทั้งประเทศ ใครเห็นด้วย ใครไม่เห็นด้วย กับการประกาศ One map คนละเรื่องกับหลักกระบวนการการรับฟังความคิดเห็น เพราะการรับฟังความคิดเห็นต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และการที่อุทยานฯออกมาแคมเปญให้ช่วยมาลงชื่อ ผิด เพราะการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องให้ข้อมูล แต่ต้องไม่แคมเปญให้คนมาช่วยทางใดทางหนึ่ง มีการทำไลน์กรุ๊ป ให้ช่วยกันลงชื่อ ใครไม่ต้องการให้เสียป่าให้ลงชื่อ"

เร่งประกาศ One map คืนความเป็นธรรมชาวบ้าน 

นายเกียรติกล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาคือ ต้องเร่งประกาศ One map ให้เป็นไปตามแนวสำรวจเมื่อปี 2543 ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาได้ 80-90 % โดยผลที่จะเกิดขึ้น คือ ชาวบ้านที่โดนคดีอยู่วันนี้ประมาณ 400 กว่าคดี จะเหลือที่เป็นคดีอยู่ไม่ถึง 10 คดี ดังนั้น เมื่อประกาศ One map แล้ว อุทยานฯก็ไม่ต้องติดคุก ประชาชนไม่เสียสิทธิที่เดิมมีอยู่แล้ว ส่วนนายทุนที่ครอบครองที่ดินผิดกฎหมายก็ยังผิดอยู่เหมือนเดิม

นายเกียรติกล่าวว่า นอกจากนี้ต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจด้วยว่า ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของปัญหาระหว่างหน่วยงานรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.ส.ป.ก.ปี 2518 

"One map ที่พร้อมประกาศในพื้นที่ทับลาน 2 แสนกว่าไร่ เป็นแนวสำรวจเมื่อปี 2543 เป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหา พื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินส.ป.ก.กับอุทยานฯ ทั่วประเทศ กระทบกว่า 20,000 ครัวเรือน และที่มาของปัญหาคือ หน่วยงานรัฐเองไม่ทำตามกฎหมาย เพราะไม่ปรับแผนที่ตามที่พ.ร.บ.สปก.ปี 2518 กำหนด"

เมื่อถามว่า เพราะสาเหตุใดอุทยานถึงไม่ยอมประกาศ One map นายเกียรติกล่าวว่า เพราะจะทำให้ไม่ได้รับงบประมาณเพื่อดูแลพื้นที่ 2 แสนกว่าไร่ และคดีความที่ทำไว้ทั้งหมดต้องยกไปส่วนใหญ่ 

นายเกียรติกล่าวว่า นอกจากนี้งบประมาณปี 68 ยังมีการขอจัดสรรเงินเพื่อจัดทำแผนที่แสดงขอบเขตอุทยานแห่งชาติที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ร่วมกันและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดทำแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยการสร้างถนนลำลองระยะทาง 407 กิโลเมตร วงเงิน 99 ล้านบาท ภายใต้แผนการดำเนินแผนงานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูและป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ  ทั้งที่เป็นการปรับปรุงให้เป็นไปตามแนวสำรวจปี 2543 ซึ่งสำรวจมาแล้วตามแนวถนนที่มีแล้วทั้งหมด เป็นแนวถนนกันไฟ ซึ่งก่อนสร้างมานานแล้ว 

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่ชอบ 

เมื่อถามว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นเสร็จแล้วคิดว่าจะประกาศ One map ได้หรือไม่ นายเกียรติกล่าวว่า ไม่กล้าคาดเดา เพราะกระบวนการทำการรับฟังความคิดเห็นไม่ชอบไปแล้ว มีการรณรงค์ให้คนออกมาต่อต้าน เนื่องจากหลักของกฎหมายประชาพิจารณ์เป็นการรับฟังความเห็น ไม่ใช่โน้มน้าวความเห็น 

เมื่อถามว่า ผลของการรับฟังความเห็นมีแนวโน้มว่า จะไม่มีการประกาศ One map นายเกียรติกล่าวว่า ตามเงื่อนไขต้องประกาศ ถ้าประกาศมาแล้วคนในพื้นที่ทั้งหมดที่มีส่วนได้เสียเห็นด้วยกับ One map แต่คนที่ไม่เห็นด้วย คือ คนที่อยู่นอกพื้นที่ทั้งหมด ซึ่ง ณ วันนี้เป็นแบบนั้น 

"หลักของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เป็นเรื่องเฉพาะของพื้นที่ หรือ ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง คือ คนในพื้นที่ ไม่ใช่ฟังทั้งประเทศ หรือ ประชาชนที่เหลือที่มีผลทางอ้อม ที่มีการโน้มน้าวในกลุ่มไลน์ ว่า จะยกเลิกพื้นที่ป่า 2 แสนไร่เห็นด้วยหรือไม่ คนก็ไม่เห็นด้วย เป็นวิธีเนียน ๆ เทา ๆ ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน"  

ยกเลิกมติครม.One map ปี 66 รัฐบาลโดนฟ้อง 

เมื่อถามว่า การทบทวนหรือยกมติครม.เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 จะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ นายเกียรติกล่าวว่า ถ้ายกเลิกจะเข้าทางอุทยาน เนื่องจากมติครม.ดังกล่าวให้ประกาศ One map ซึ่งมติครม. ถือเป็นกฎหมาย อย่าหลงกล และถ้ายกเลิก ครม.จะมีความผิดเสียเอง รับผิดชอบไหวหรือไม่ ชาวบ้านสามารถยื่นฟ้องรัฐบาลต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ด้วย