“คมนาคม” ไม่พร้อมชงครม. เคาะ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 16 ก.ค.นี้

15 ก.ค. 2567 | 06:00 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2567 | 06:46 น.

แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม ยืนยัน "ไม่เป็นความจริง" หลังมีกระแสข่าวเตรียมเสนอครม.วันที่ 16 ก.ค.นี้ เพื่อเห็นชอบผลคัดเลือกเอกชน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” หลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ตั้งเป้าลงนามสัญญา BEM ภายในเดือนต.ค.67

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ จะมีการเสนอผลการคัดเลือกเอกชนและสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทนั้น ยืนยันว่า "ไม่เป็นความจริง เพราะโครงการฯยังไม่ได้ถูกบรรจุในวาระการประชุมของครม."

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม ตามแผน หากครม. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้ว หลังจากนั้นรฟม.จะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ BEM ผู้ชนะการประมูล ภายในเดือนต.ค.2567 

ทั้งนี้มีแผนเปิดให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพ.ค. 2571 และเปิดให้บริการโครงการฯตลอดทั้งเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพ.ย.2573

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) รวมถึงงานเดินรถไฟฟ้าตลอดสาย บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท

โดย รฟม.ได้เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 มีผู้ซื้อซองประมูล 14 ราย และมีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ

 

1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท

2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับ บริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รฟม.ได้ประกาศให้ BEM ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 เนื่องจาก BEM ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติและเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด