แก้กฎหมายโรงงาน ชง ยาแรง ปิด - เพิกถอนใบอนุญาต ชดใช้สินไหมทดแทนเพิ่ม 10 เท่า

20 ก.ค. 2567 | 14:05 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2567 | 14:17 น.

อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.รวมไทยสร้างชาติ ชง แก้กฎหมายโรงงาน งัด ยาแรง ปิดโรงงาน-เพิกถอนใบอนุญาต ชดใช่ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจากที่ศาลสั่ง 10 เท่า

รายงานแจ้งว่า สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุเข้าระเบียบวาระร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับคณะ

โดยมีหลักการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เหตุผลเพราะพบว่ายังคงมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการควบคุมการประกอบกิจการขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงและมีความอันตรายของการประกอบกิจการนั้น 

โดยมีประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อโรงงาน อาทิ  กำหนดให้มีมาตรฐานโรงงานหรือมาตรฐานสากลเพื่อให้โรงงานมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

กรณีที่โรงงานจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือการประกอบกิจการของโรงงานจะก่อให้เกิดอันตรายความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงาน

หรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวและปรับปรุงแก้ไขโรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้ (โรงงานจำพวกที่ 3) 

รวมทั้งสั่งปิดโรงงานและให้มีผลเป็นการเพิกถอนใบรับแจ้งสำหรับโรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่เมื่อจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน (โรงงานจำพวกที่ 2) หรือมีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสำหรับโรงงานจำพวกที่ 3

กำหนดให้เพิ่มหมวด 2/1 เกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่ง ดังนี้ 

  • ผู้ประกอบกิจการโรงงานและต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างหรือบุคคลใดได้กระทำไปในการทำงานและให้โรงงานรับผิดชอบต่อความเสียหาย โดยที่บทบัญญัติหมวดนี้ไม่ลบล้างหรือจำกัดหน้าที่และความรับผิดทางแพ่งที่บุคคลมีอยู่ตามบทบัญญัติกฎหมายอื่น
  • ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างหรือบุคคลใดกระทำไปในการทำงานให้แก่ตน แต่มีสิทธิไล่เบี้ยจากบุคคลดังกล่าว เว้นแต่ตนมีผลโดยตรงให้เกิดการละเมิดขึ้น และโรงงานที่เป็นต้นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต สุขภาพอนามัย ทรัพย์สินของผู้อื่น หรือของรัฐเสียหาย ผู้ประกอบกิจการมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายเพื่อการนั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบกิจการโรงงานหรือไม่ก็ตาม
  • กรณีความเสียหายเกิดต่อบุคคล สัตว์ พืช หรือสิ่งแวดล้อม ถ้ารัฐได้รับความเสียหายเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าช่วยเหลือหรือดำเนินการใดเพื่อขจัดความเสียหายให้คืนสู่สภาพเดิม หรือเป็นความเสียหายต่อทรัพย์หรือเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินของแผ่นดิน เมื่อได้รับคำร้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของรัฐดังกล่าวได้

กำหนดให้มีการชดใช้ค่าสินไหมในเชิงลงโทษ กับโรงงานที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวง กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินประชาชนหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ให้ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกิน 10 เท่าของค่าสินไหมทดแทน