ประเทศจีน เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทย ล่าสุดรัฐบาลจีนมีโครงการผลิตเอทานอลจากถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก (แปลงถ่านหินเป็นเอทานอลได้)กำลังผลิต 500,000 ตัน/ปี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการทดลองในเมือง อวี้หลิน มณฑลส่านซี จะส่งผลให้ความต้องการใช้พืชผลทางการเกษตรเช่น ข้าวโพด อ้อย หรือมันเส้นเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลลดลง ส่งผลให้สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ได้มีการประชุม(16 ก.ค.67) ร่วมกับสมาชิกเพื่อรับมือเป็นการเร่งด่วน
นายชุมพล ขจรเฉลิมศักดิ์ นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้โรงงานผลิตแป้งมันปะหลัง เริ่มกลับมาเปิดดำเนินการกันมากขึ้นแล้ว (ช่วง เม.ย.ปิดตามฤดูกาล) โดยเริ่มเปิดดำเนินการแล้วกว่า 60 โรง จากผลผลิตมันสำปะหลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่ยังมีไม่มากนัก ทำให้โรงงานแป้งมันต้องแย่งซื้อวัตถุดิบ
“ราคาหัวมันสำปะหลัง ในช่วงนี้เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำสุด เฉลี่ย14-15% จากที่เคยมีเชื้อแป้ง 30% ประกอบกับเป็นมันอ่อน หากฝนตกลงมาไม่ขุดก็ไม่ได้ ต้องเร่งขุดหนีน้ำ ไม่เช่นนั้นหัวมันจะเน่า ทำให้หัวมันคุณภาพไม่ค่อยดี และมีสิ่งเจือปนมาก ส่วนมันเส้นมีปัญหาจากฝนตก ไม่ค่อยมีแดด บางครั้งตากมันไม่ได้ นี่คือปัญหา คาดจะลากยาวไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน”
ในส่วนของตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่ของแป้งมันสำปะหลังไทย เวลานี้ปัญหาจากแป้งมันมีราคาสูงกว่าแป้งข้าวโพดมาก ประกอบกับผลผลิตดี จากข้าวโพดจีเอ็มโอ ทำให้ราคาถูก และขณะนี้จีนสามารถแปลงถ่านหินเป็นเอทานอล ซึ่งจะทดแทนมันเส้นที่ใช้ผลิตเอทานอล และยังมีราคาถูกกว่า 3-4 หยวน คาดจะทำให้ลดการใช้มันเส้นลงประมาณ 2 ล้านตัน เมื่อกระทบมันเส้นแล้วคาดจะส่งผลถึงแป้งมันตามมาแน่นอน รวมถึงจะกระทบต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยทั้งระบบ (ปี 2566 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 1.27 แสนล้านบาท สัดส่วน 63% ส่งออกไปจีน)
ด้านนายสุรพงษ์ แสงศิริพงษ์พันธ์ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน ราคามันเส้นส่งออกขยับขึ้นเป็น 238 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่ก็ยังไม่มีใครซื้อเพิ่ม แม้ว่าจะมีความต้องการของประเทศจีนที่คาดไม่น่าเกิน 2 ล้านตัน จากการส่งออกตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2567 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 50-60% มีส่วนสำคัญจากเงินบาทแข็ง ทำให้คู่ค้าชะลอซื้อ
“จากที่จีนผุดโรงงานเอทานอลจากถ่านหิน มีผลกระทบไทยแน่นอน ซึ่งโรงงานในประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่ยังไม่รับซื้อ ปัจจุบันขายให้กับโรงกลั่นขนาดเล็ก ราคา 6,200-6,300 หยวนต่อตัน ถ้านับจากนี้ไปอีก 2-3 ปีข้างหน้าเขามีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรให้สามารถผลิตเอทานอลจากถ่านหินได้เทียบเท่าธัญพืชอาจจะต้องกลับมาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง”
อย่างไรก็ดี ทิศทางอนาคตมันสำปะหลังไทย จากครึ่งปีหลังปีนี้ไปถึงปี 2568 มี 2 กรณีด้วยกันคือ 1.หากต้นทุนการผลิตของชาวไร่ยังสูงกว่า 2,300 บาท/ตัน ก็อาจจะสู้คู่แข่งไม่ได้ และ 2.หากผลผลิตมันสำปะหลังสามารถทำได้ที่ 2.8 ตัน/ไร่ (จากที่เคยมีผลผลิต 3.5 ตันต่อไร่) แต่มีต้นทุนที่ถูกลง ก็จะทำให้การส่งออกแข่งขันด้านราคาได้ ผู้ซื้อก็จะสามารถเพิ่มปริมาณการซื้อได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำให้มันเส้นกลับมาคึกคักอีกครั้ง หากข้าวโพดในประเทศจีน ปีการผลิต 2567/2568 มีผลผลิตต่ำกว่า 270 ล้านตัน จะทำให้ราคาข้าวโพดในจีนขยับสูงขึ้น ก็จะเป็นผลดีกับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย
“อยากจะฝากรัฐบาลในเรื่องงบประมาณแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง และงบประมาณสนับสนุนท่อนพันธุ์ต้านโรค ที่ปัจจุบันมีไม่เพียงพอที่จะให้เกษตรกรปลูก ส่วนเกษตรกรก็จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ต้นทุนถูกลงและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อให้การส่งออกแข่งขันได้ และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,011 วันที่ 21-24 กรกฎาคม พ.ศ. 2567