"ดีพร้อม" รุกต่อยอด "DIPROM CONNECTION" ดันเศรษฐกิจโตกว่า 2 หมื่นล้าน

22 ก.ค. 2567 | 23:00 น.

"ดีพร้อม" รุกต่อยอด "DIPROM CONNECTION" ดันเศรษฐกิจโตกว่า 2 หมื่นล้าน มุ่งเพิ่มโอกาสการเข้าถึงให้กับเอสเอ็มอี เผยตั้งเป้าเพิ่มความร่วมมืออีก 7 หน่วยงานปี 67 ทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริมการลงทุน เจรจาจับคู่ธุรกิจ

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้ดำเนินการผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) โดยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION

ทั้งนี้ ด้วยการเร่งสร้างความร่วมมือและบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศผ่านข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมการลงทุน การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการร่วมกันดำเนินโครงการ และกิจกรรมสำคัญ

สำหรับในปี 2567 ดีพร้อมตั้งเป้าจะร่วมมือกับพันธมิตรภายในประเทศเพิ่ม 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย  
 

  • สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA ด้วยการเพิ่มโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ 
  • กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมมือในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และเสริมแกร่งด้านตลาด 
  • บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ร่วมมือในด้านการเสริมแกร่งด้านตลาด สร้างแบรนด์ (Storytelling) 

"ดีพร้อม" รุกต่อยอด "DIPROM CONNECTION" ดันเศรษฐกิจโตกว่า 2 หมื่นล้าน

  • สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมมือในด้านทุนสนับสนุนเครื่องจักร เทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ สร้างแบรนด์ (Storytelling) และช่องทางประชาสัมพันธ์ 
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พัฒนาโมเดลนำร่องในการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบองค์รวม 
  • สภาหัตถศิลป์โลก ร่วมมือในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ เสริมแกร่งด้านตลาด 
  • เกษรอัมรินทร์ เพื่อนำสินค้าของผู้ประกอบการในจำหน่ายในพื้นที่ พร้อมเร่งขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต 
     

ขณะที่ในส่วนของต่างประเทศนั้น ดีพร้อมได้เตรียมขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศญี่ปุ่นอีก 4 หน่วยงานในด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เพื่อมุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงานด้วยการให้ทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนุรักษ์พลังงานให้กับบริษัทต่าง ๆ 

รวมถึงการพัฒนาการใช้เทคโนโลยี AI หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Robot) และพลังงานใหม่และถึงทำความร่วมมือกับจังหวัดในประเทศญี่ปุ่นอีก 3 จังหวัด คือ จังหวัดโทคุชิมะ จังหวัดโออิตะ และจังหวัดนางาซากิ 

โดยในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้ทำความร่วมมือกับ 1 หน่วยงาน ด้วยการต่อยอดความร่วมมือ (Framework Agreement) นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตกับ จังหวัดมิเอะ ในด้านการพัฒนาบุคลากร รวมถึงเพิ่มสาขาความร่วมมือให้ครอบคลุมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และพลังงานหมุนเวียน 

"ดีพร้อมมีการร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันทั้งในระดับรัฐบาลกลาง 6 แห่ง รัฐบาลท้องถิ่น 23 แห่ง และภาคเอกชน 3 แห่ง รวม 31 แห่ง ผ่านความร่วมมือรูปแบบต่าง ๆ เช่น MOU ,บันทึกความร่วมมือ (MOC) และกรอบการทำงาน (Framework) เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกัน ทั้งในด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ตลอดจนบุคลากร รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายโอกาสธุรกิจสู่ระดับโลก"

นายภาสกร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่สนับสนุนและช่วยเอสเอ็มอีมีอยู่มาก โดยดีพร้อมต้องการสร้างจุดเด่นและความแตกต่าง จึงเร่งผสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในรูปแบบของ DIPROM CONNECTION เพื่อต่อยอดการบริการของดีพร้อมตามกรอบงบประมาณที่ได้รับ ให้สามารถครอบคลุมได้ในหลายมิติอย่างครบวงจร และสานแนวคิด คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม

อย่างไรก็ดี โลกในยุคปัจจุบันดีพร้อมไม่สามารถขับเคลื่อนการทำงานเพียงผู้เดียวได้ ดังนั้น ในปี 2567 ดีพร้อมตั้งเป้าบูรณาการความร่วมมือผ่านการ MOU กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศได้กว่า 20 หน่วยงาน อีกทั้ง ยังมีแผนที่ขยายเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต เพื่อทำให้การบริการของดีพร้อมมีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ และต่อยอดการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมทุกมิติ สร้างความแตกต่างให้เอสเอ็มอีนึกถึงดีพร้อมเป็นลำดับแรก ซึ่งคาดจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเบื้องต้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท 

นายภาสกร กล่าวอีกว่า ปีนี้ดีพร้อมมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ไปแล้ว 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย 

  • บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผ่านโครงการติดปีกธุรกิจ พิชิตโอกาส เชื่อมตลาด สู่ความสำเร็จ เพื่อเสริมแกร่งชุมชน-วิสาหกิจไทย ยกระดับสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ สนับสนุนสิทธิประโยชน์ส่วนลดพิเศษในการขนและขายสินค้าชุมชนไทยผ่านระบบออนไลน์ และออฟไลน์ที่ทำไปรษณีย์ไทยและเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศกว่า 50,000 แห่ง 
  • สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผ่านโครงการติดปีกเกษตรกร ด้วยเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการแปรรูป เพิ่มผลิตภาพให้กับพืชเศรษฐกิจและผลไม้ รวมถึงยกระดับสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้โดยเน้น โกโก้ ไผ่ สมุนไพร ชีวมวล ในระยะแรก และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในอนาคต และการส่งเสริมการนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาใช้เป็นพลังงานทดแทน 
  • และอีก 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ,ธนาคารออมสิน ,ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการ ส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ผ่านโครงการติดปีก เอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มีดีพร้อมค้ำประกันให้ เพื่อให้ผู้ประกอบการยื่นเรื่องผ่าน ดีพร้อมเพื่อพิจารณาการค้ำประกันและส่งต่อให้กับทางสถาบัน โดยจะพิจารณาการค้ำประกันและสามารถแจ้งผลเบื้องต้น