Dachser พร้อมหนุนไทยเป็น "ฮับโลจิสติกส์ภูมิภาค" ชูเทคโนโลยีพลิกโฉมวงการ

23 ก.ค. 2567 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2567 | 15:08 น.

ซีอีโอ Dachser SE (ดั้กเซ่อร์ เอสอี) ยักษ์ใหญ่โลจิสติกส์จากเยอรมนี ชี้ปัจจัยบวกทำให้ตลาดโลจิสติกส์เอเชียแปซิฟิกขยายตัวต่อเนื่อง บริษัทพร้อมลงทุนและใช้ไทยเป็นฐานให้บริการลูกค้าในภูมิภาค ย้ำเทคโนโลยี AI และ IoT จะเพิ่มแต้มต่อการแข่งขันและพลิกโฉมโลจิสติกส์แห่งอนาคต

ในการมาเยือนประเทศไทยเมื่อเร็วๆนี้ นายบวร์คฮาร์ด เอลิง (Burkhard Eling) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดั้กเซ่อร์ เอสอี (Dachser SE) ผู้ให้บริการด้าน โลจิสติกส์และคลังสินค้าระดับโลก ที่มีตลาดใหญ่อยู่ในยุโรป สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเคมป์เทน (Kempten) ประเทศเยอรมนี และนายโรมาน มึลเลอร์ (Roman Mueller) กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) พร้อมทั้งโอกาสและความท้าทาย ผ่านมุมมองของ “ดั้กเซ่อร์ เอสอี” ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2473 และมีสำนักงานสาขามากกว่า 380 แห่งใน 43 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการในนามบริษัท ดั้กเซ่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด

“โลจิสติกส์” เป็นหนึ่งใน 8 อุตสาหกรรมสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์ Thailand Vision “Ignite Thailand” ที่รัฐบาลประกาศไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป้าหมายเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกและเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์นั้น ประเทศไทยมุ่งมั่นสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมอย่างมหาศาล เชื่อมต่อโลกตะวันตกและตะวันออก

นายบวร์คฮาร์ด เอลิง

“เราเริ่มจากเยอรมนีและภูมิภาคยุโรปเป็นหลัก ก่อนจะขยายตลาดสู่ระดับโลกโดยเริ่มสาขาแรกนอกยุโรปที่สหรัฐอเมริกาซึ่งยังคงเป็นตลาดที่สำคัญ ปัจจุบัน ดั้กเซอร์ฯ ให้ความสำคัญอย่างมากกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเราตั้งเป้าทำรายได้จากตลาดเอเชียประมาณ 10% จากรายได้รวม” ซีอีโอของดั้กเซ่อร์ฯ กล่าวเปิดประเด็น พร้อมระบุถึงที่มาของการเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการภายในองค์กรที่กรุงเทพฯ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ เทคโนโลยีคือคำตอบ

ผู้บริหารของดั้กเซ่อร์ฯ มองภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในระดับโลกว่า ความก้าวหน้าทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และ IoT หรือเครือข่ายรวมของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันผ่านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับระบบคลาวด์ จะกลายมาเป็นตัวแปรในการปฏิวัติธุรกิจโลจิสติกส์ ทั้งอุตสาหกรรมยังจะได้รับ “แรงหนุน” จากความเฟื่องฟูของอี-คอมเมิร์ซ นอกจากนี้ ยังจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือการยกระดับโลจิสติกส์ที่มาพร้อมกับแนวคิดการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน (sustainability) และการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน

และหากจะจำกัดวงเฉพาะมาที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เห็นได้ชัดว่ามีปัจจัยบวกหลายประการที่เข้ามาเป็นตัวขับดันการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็น

  • การขยายตัวอย่างมากของอี-คอมเมิร์ซ
  • การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในซัพพลายเชนอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
  • การบริหารซัพพลายเชนอย่างจำเพาะเจาะจงและให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละตลาดที่มีความแตกต่างกันไป

ดังนั้น แนวโน้มสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดธุรกิจโลจิสติกส์ในอนาคตทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาคก็คือความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน แต่พลวัตรในเอเชียแปซิฟิกจะเป็นไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากตลาดมีการขยายตัวสูง และมีการลงทุนในกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางบริบทที่มีพลังขับเคลื่อนเช่นนี้ ถือว่าการรุกขยายธุรกิจโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจึงเป็นทั้งโอกาสที่เปิดกว้างและเป็นความท้าทายในเวลาเดียวกัน ซึ่งดั้กเซ่อร์ฯ ในฐานะหนึ่งในผู้นำจากยุโรป ก็พร้อมบุกตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตลาดโลกอย่างเต็มรูปแบบ

“เรามีสามเสาหลักในการทำธุรกิจ นั่นคือ สำนักงานเครือข่ายและคลังสินค้าที่กระจายไปทั่วโลก ระบบไอทีที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงการทำงาน และบุคลากรซึ่งรวมถึงวัฒนธรรมองค์กรของเรา ทั้งสามเสาหลักทำให้เราเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งมายาวนานและจะยังคงเติบโตต่อไป” บวร์คฮาร์ด เอลิง ซีอีโอของดั้กเซ่อร์ฯ กล่าว 

พร้อมหนุนประเทศไทย ยกระดับเป็นฮับการขนส่ง

จากรายงานการเงินประจำปี 2566 บริษัทดั้กเซ่อร์ฯ ขนส่งสินค้าทั้งสิ้น 77.4 ล้านชิ้น น้ำหนักกว่า 40.0 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นรายได้ 7,100 ล้านยูโร โดยมีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีการเติบโตและมีศักยภาพสูง ส่วนประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน 88 คน (จากพนักงานทั่วโลกที่มีจำนวนเกือบ 34,000 คน) ประจำสำนักงาน 4 แห่ง และถือเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของดั้กเซอร์ฯ ในภูมิภาคนี้

โรมาน มึลเลอร์

โรมาน มึลเลอร์ กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ดั้กเซ่อร์ฯ ให้บริการด้านการขนส่งโลจิสติกส์ทั่วโลก รวมทั้งบริการคลังสินค้าและบริการตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า โดยแบ่งเป็น 2 ธุรกิจหลัก คือ

  1. Dachser Air & Sea Logistics บริการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางทะเล รวมถึงบริการคลังสินค้า
  2. Dachser Road Logistics บริการขนส่งสินค้าทางบก ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจสองกลุ่ม ได้แก่ European Logistics และ Food Logistics

หัวใจสำคัญคือการให้บริการโซลูชันโลจิสติกส์แบบอัจฉริยะทั่วโลก ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ในภูมิภาคใดก็ตาม ด้วยเครือข่ายการขนส่งที่กว้างขวางและระบบไอทีแบบบูรณาการ นอกจากนี้ ยังมีบริการแบบ contract logistics ที่ครอบคลุมการจัดการคลังสินค้า และโลจิสติกส์ทั้งหมด รวมทั้งบริการที่ตอบสนอง “ความต้องการเฉพาะ” ของอุตสาหกรรมบางประเภท อาทิ

  • Dachser Automotive Logistics สำหรับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย โดยปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่ซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมนี้อย่างเคร่งครัด
  • Dachser Fashion Logistics สำหรับสินค้าแฟชั่น โดยระบบขนส่งนวัตกรรม Roll&GOH และ ProFashional Box ทำให้ขนส่งสินค้าไปถึงจุดหมายได้ในสภาพสมบูรณ์ และตรงเวลา
  • Dachser Chem Logistics สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ทั่วโลก โดยบริการขนส่งไปยังตลาดในประเทศต่างๆ และการจัดการคลังสินค้าที่ได้รับการยอมรับด้านมาตรฐานและความปลอดภัยสูงสุด
  • และ Dachser Life Science & Healthcare Logistics สำหรับการขนส่งสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิอย่างเข้มงวด และต้องขนส่งโดยเร่งด่วน ตามกฎระเบียบที่เคร่งครัด

หัวใจสำคัญ คือการให้บริการโซลูชันโลจิสติกส์แบบอัจฉริยะทั่วโลก

"สิ่งที่เป็นความท้าทายในธุรกิจนี้ ยังคงมีอยู่มากมาย ดังที่คุณจะเห็นได้ว่า มีสงคราม มีการสู้รบในภูมิภาคต่างๆ เช่นในตะวันออกกลางและทะเลแดงที่ทำให้ต้นทุนการขนส่งพุ่งสูงขึ้น หรือในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ทั้งซัพพลายเชน ทั้งห่วงโซ่การผลิตได้รับผลกระทบรุนแรง สิ่งเหล่านี้เราเรียกโดยรวมว่า ความไม่แน่นอน แต่หน้าที่ของผู้ให้บริการอย่างเรา คือการบริหารจัดการความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น การทำให้ลูกค้าของเราสามารถคาดคะเน สามารถวางแผนบริหารจัดการได้ด้วยข้อมูลต่างๆที่ระบบของเรามีโซลูชันที่จะมอบให้พวกเขาทำงานได้ง่ายขึ้น มั่นใจได้มากขึ้น และราบรื่นยิ่งขึ้น แม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านั้น ดังที่ผมกล่าวมาแล้วก็คือ เรามีสามเสาหลักที่จะสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า และทำให้พวกเขาสามารถก้าวผ่านสิ่งที่เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้น" มึลเลอร์กล่าว

ผู้บริหารของดั้กเซ่อร์ฯ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับ โครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ว่า เป็นโครงการที่น่าสนใจและบริษัทเองก็ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างใกล้ชิด เพราะจากประสบการณ์ในยุโรปจะเห็นได้ว่า โครงการในลักษณะที่เชื่อมโยงการขนส่ง รวมไปถึงการเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชน ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างอุโมงค์เชื่อมช่องแคบอังกฤษ (ที่เชื่อมเกาะอังกฤษกับฝรั่งเศส) และสะพานลอดใต้ทะเลที่เชื่อมเดนมาร์กกับสวีเดน โครงการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทาง แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลในเชิงพาณิชย์ การค้า และการขนส่ง

ในฐานะเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ดั้กเซ่อร์ฯ มองว่า สิ่งสำคัญในระหว่างที่โครงการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาให้เป็นรูปเป็นร่าง คือการเตรียมความพร้อม เตรียมพร้อมเพื่อจะสามารถดำเนินการใดๆได้อย่างรวดเร็วฉับไว และสอดคล้องกับสถานการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น     

บุกเปิดสนง. แห่งที่สี่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ดั้กเซ่อร์ฯ เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 และในปี 2557 ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทย่อยในประเทศไทย 100% การขยายตัวล่าสุด คือในปีที่ผ่านมา (2566) บริษัทได้ขยายบริการในภาคเหนือ โดยเปิดสำนักงานขายแห่งใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นสำนักงานแห่งที่ 4 นอกจากที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง ที่กรุงเทพฯ สนามบินสุวรรณภูมิ และแหลมฉบัง

บริษัท ดั้กเซ่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีพนักงานมากกว่า 80 คน และจากรายงานการเงินประจำปี 2566 บริษัททำสถิติขนส่งสินค้าทางอากาศ 3,642 ตัน ขนส่งทางทะเลคิดเป็นความจุตู้คอนเทนเนอร์ 11,714 TEU และขนส่งสินค้าทางบกจำนวน 17,593 ชิ้น

“นอกจากภาคธุรกิจยานยนต์ซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญสำหรับธุรกิจของเราในประเทศไทย ดั้กเซ่อร์ฯ ยังมองเห็นโอกาสในภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ แฟชั่น และอื่นๆ จากความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทมีความมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงการจัดเก็บสินค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน”

ผู้บริหารของดั๊กเซอร์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังมุ่งเน้นเรื่อง การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีการนำมาตรการใหม่ๆ มาใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณานำรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้ในการปฏิบัติงานประจำวันให้มากยิ่งขึ้น เป็นต้น

นวัตกรรมดิจิทัลพลิกโฉมโลจิสติกส์แห่งอนาคต

เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการก้าวขึ้นเป็น "ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ใช้ดิจิทัลมากที่สุดในโลก" ดั้กเซ่อร์ฯ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้นวัตกรรมไอทีและโซลูชันต่างๆ เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้า ตัวอย่างเช่น

  • แพลตฟอร์ม Dachser ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเอง ใช้งานง่าย และเป็นโซลูชันแบบ one-stop สำหรับการขนส่งทุกรูปแบบ โดยผนวกกระบวนการทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน จึงสามารถดำเนินการทุกอย่างจากบนแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งยังรวมถึงการขอใบเสนอราคา การจองบริการ การติดตามสินค้า และการจัดการเอกสาร ลูกค้าจะได้รับความสะดวกจากขั้นตอนที่มีความชัดเจน การติดตามได้แบบเรียลไทม์ การตอบสนองที่รวดเร็ว และประโยชน์สูงสุดจากห่วงโซ่อุปทาน
  • เทคโนโลยี Advanced Indoor Localization and Operations (ILO) ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ติดตามสินค้าได้อย่างแม่นยำ เพราะมีการบันทึก อัพเดตสินค้า และขั้นตอนการทำงานโดยอัตโนมัติและอย่างต่อเนื่องแบบ digital twin
  • เครื่องมือวิเคราะห์ที่สามารถประเมินความต้องการใช้บริการของลูกค้าได้ล่วงหน้า โซลูชันที่ช่วยวางแผนการใช้เส้นทางขนส่งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และระบบการบริหารคลังสินค้าและจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในโซลูชันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
  • แนวคิด Swap Body ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยโธมัส ไซมอน (Thomas Simon) บุตรเขยของโธมัส ดั้กเซ่อร์ (Thomas Dachser) ผู้ก่อตั้งบริษัท โดยเขานำรูปแบบ ระบบ และข้อกำหนดด้านการขนส่งทางทะเล มาปรับใช้เพื่อสร้างตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐานที่สามารถ "สลับ" กันได้ง่ายระหว่างยานพาหนะขนส่ง ซึ่งต่อมา แนวคิดนี้ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จนพัฒนาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่สามารถใช้ในการขนส่งทางบกเพื่อเร่งการเติบโตของบริษัท และปฏิวัติวงการโลจิสติกส์ทั่วโลก

ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่โลจิสติกส์จากเยอรมนียังกล่าวถึง แนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainability) ที่ผู้ประกอบการธุรกิจในโลกปัจจุบันต้องคำนึงถึงเสมอ และดั้กเซ่อร์ฯเอง ก็ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยบริษัทมีกลยุทธ์และโซลูชันที่นำมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการจัดการภายในองค์กร และความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ ซึ่งปรับให้สอดคล้องกับแนวโน้มและกฎข้อบังคับนานาชาติอยู่เสมอ โดยมี 3 ประเด็นหลักที่บริษัทนำมาใช้ ได้แก่  

โฉมหน้ารถบรรทุก EV ของบริษัทเรโนลต์ ที่ดั้กเซ่อร์ฯ นำมาใช้เพิ่มอีก 15 คันสำหรับให้บริการในเยอรมนี (มิ.ย.2567)

  • พลังงานหมุนเวียนและการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า บริษัทเน้นการใช้รถตู้ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • การขนส่งสินค้าที่ไม่ปล่อยมลพิษใน 13 เมืองของยุโรป ซึ่งทำได้ด้วยการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าในการจัดส่งในระยะสุดท้าย
  • การปรับเปลี่ยนตามกฎข้อบังคับ ซึ่งหมายถึงการดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับและนโยบายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต