เปิด 11 รถไฟฟ้าสายใหม่ 2 แสนล้าน บูมทำเลทอง

24 ก.ค. 2567 | 00:00 น.

กระทรวงคมนาคมเปิดแผน M-MAP 2 ปูพรม 11 เส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ ในเขต กทม.-ปริมณฑล ระยะทาง 162.93 กม. มูลค่ารวม 228,546 ล้านบาทเปิดให้บริการภายในปี 71-72 ช่วยร่นการเดินทาง บูมทำเลทองบ้านจัดสรร-คอนโดมิเนียม

KEY

POINTS

  •  กระทรวงคมนาคมเปิดแผน M-MAP 2 ปูพรม 11 เส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ ในเขต กทม.-ปริมณฑล ระยะทาง 162.93 กม. มูลค่ารวม 228,546 ล้านบาท
  • เปิดให้บริการภายในปี 71-72 ช่วยร่นการเดินทาง บูมทำเลทองบ้านจัดสรร-คอนโดมิเนียม

การทุ่มเม็ดเงินลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้าของรัฐบาล อย่างต่อเนื่องในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รองรับการขยายตัวของเมืองให้เชื่อมโยงการเดินทาง รถไฟฟ้า 13 เส้นทาง ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน รวมระยะทาง276.84 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 194 สถานีมูลค่า 547,663 ล้านบาท

ขณะโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมี จำนวน 4 โครงการ ระยะทางรวม 70.40 กม. จำนวน 68 สถานี เพื่อขยายแขนขารับประชาชนที่อยู่นอกเมือง ให้เดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ล่าสุดยังเดินหน้าพัฒนาตามแผน M-MAP 2 อีกจำนวน 11 เส้นทาง ระยะทาง162.93 กม. มูลค่ารวม 228,546 ล้านบาท ในเขตกทม.-ปริมณฑล จุดพลุทำเลทองใหม่โครงการที่อยู่อาศัย

โดยกระทรวงคมนาคม มองว่า จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเมืองได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบว่ารถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเกิดขึ้นมักจะผ่านสถานที่หรือแนวเส้นทางสำคัญ เช่น

โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (สุขุมวิท) ช่วงลำลูกกา-คูคต ซึ่งเป็นแนวเส้นทางจากกรุงเทพฯเชื่อมต่อจ.ปทุมธานี อีกทั้งเป็นเส้นทางที่ผ่านถนนสายหลักและสายรองที่สำคัญๆ เช่น กาญจนาภิเษก, ลำลูกกา, สายไหม, ทางด่วนพิเศษฉลองรัช (ด่านจตุโชติ) ฯลฯ

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ที่มีแนวเส้นทางผ่านช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ และถนนงามวงศ์วาน ถือเป็นพื้นที่ที่มักจะมีปริมาณการจราจรติดขัด โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน อีกทั้งมีชุมชน,อาคาร ตลอดจนห้างสรรพสินค้าที่ใกล้เคียง

หากโครงการรถไฟฟ้าเหล่านี้เกิดขึ้นจะทำให้เมืองในพื้นที่ดังกล่าวมีการพัฒนาและเติบโตต่อไปได้ ส่งผลให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นในอนาคต

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ จำนวน 11 เส้นทาง จะเปิดให้บริการภายในปี 2571-2572 ประกอบด้วย

1.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ -พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,573 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟท.มีมติเห็นชอบปรับกรอบวงเงินโครงการ เนื่องจากมีการปรับย้ายตำแหน่งสถานีราชวิถี เปลี่ยนมาอยู่ฝั่งโรงพยาบาลรามาธิบดี

และมีทางเดินลอยฟ้า(สกายวอล์ก) จากสถานีเชื่อมเช้าสู่อาคารของโรงพยาบาล ส่งผลให้กรอบวงเงินโครงการเพิ่มขึ้น 416.09 ล้านบาท หลังจากนี้ รฟท. จะเสนอโครงการดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป

2.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย ระยะทาง 33.16 กม. มูลค่าประมาณ 48,129 ล้านบาทปัจจุบันรฟท.ได้เสนองบประมาณปี 2567 วงเงิน 140 ล้านบาท เพื่อทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการออกแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคาต่อไป

3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.10 กม. วงเงิน 41,720 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม

โดย รฟม.ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมขอความเห็นชอบในหลักการของโครงการร่วมลงทุน (PPP) และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ วางเป้าหมายเปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2571

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล มีแนวเส้นทางเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูบริเวณแยกแคราย

วิ่งไปตามแนวถนนงามวงศ์วานจนถึงแยกบางเขนเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง แล้วข้ามถนนวิภาวดี-รังสิต โดยลอดใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข จนถึงแยกเกษตร ก่อนยกระดับไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ยาวไปจนถึงแยกนวมินทร์ จนถึงแยกสวนสน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารจอดแล้วจรและศูนย์ซ่อมบำรุง

4.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว(สุขุมวิท) ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.50 กม. วงเงิน 7,994 ล้านบาท ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 72

มีแนวเส้นทางเป็นทางวิ่งยกระดับตลอดแนวเชื่อมต่อจากช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยวิ่งไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท จนสิ้นสุดโครงการบริเวณก่อนถึงแยกถนนตำหรุ-บางพลี จำนวน 5 สถานี ประกอบด้วย

สถานีสวางคนิวาส,สถานีเมืองโบราณ,สถานีศรีจันทร์ประดิษฐ์,สถานีบางปูและสถานีตำหรุ 

5.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (สุขุมวิท) ช่วงลำลูกกา-คูคต ระยะทาง 6.50 กม. วงเงิน 6,337 ล้านบาท ที่มีแนวเส้นทางผ่าน 4 สถานี คือ สถานีคลอง 3, สถานีคลอง 4, สถานีคลอง 5 และสถานีวงแหวนตะวันออก

6. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8 กม. วงเงิน 21,197 ล้านบาท ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 72 มีแนวเส้นทางต่อจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่สถานีหลักสอง

โดยเป็นทางยกระดับไปตามเกาะกลางของถนนเพชรเกษมถึงพุทธมณฑลสาย 2 ไปยังสถานีทวีวัฒนาและผ่านพุทธมณฑลสาย 3 ไปสิ้นสุดที่สถานีพุทธมณฑล สาย 4

7.โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 ช่วงคลองสาน-ประชาธิปก ระยะทาง 0.92 กม. วงเงิน 3,000 ล้านบาท ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 72

มีแนวเส้นทางเริ่มวิ่งตามแนวถนนสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านนสถาบันจิตเวชศาสตร์ฯ โรงเรียนจันทรวิทยา และสิ้นสุดแถววัดอนงคารามวรวิหาร 


8.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.25 กม. วงเงิน 27,000 ล้านบาท ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 72 มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่วัชรพลตรงจุดตัดกับ ถ.รามอินทรา มุ่งหน้าลงใต้ตามแนว ถ.ประดิษฐ์มนูธรรม

ผ่านซอยนวลจันทร์ ข้ามสะพานเกษตรนวมินทร์ ไปสิ้นสุดที่จุดตัดกับถ.ลาดพร้าว จากนั้นมุ่งหน้าสู่ถนนพระราม 9 แล้วเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ถ.ประชาอุทิศ ออกสู่ถ.เพชรบุรี เข้าสู่ถ.ทองหล่อมาเพื่อมาตัดกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีทองหล่อ 


9.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-ท่าพระ ระยะทาง 23.66 กม. อยู่ระหว่างการศึกษาวงเงินลงทุน ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 72 มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีพระโขนง มุ่งหน้าสู่ถนนพระราม4 ผ่านตลาดคลองเตย

แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มุ่งหน้าสู่ถนนพระราม 3 ผ่านสะพานพระราม 9 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ถนนรัชดาภิเษกเพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีตลาดพลู ไปสิ้นสุดที่แยกท่าพระ เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีท่าพระ

เปิด 11 รถไฟฟ้าสายใหม่ 2 แสนล้าน บูมทำเลทอง
10.โครงการรถไฟฟ้าสายสีฟ้า ช่วงดินแดง-สาทร ระยะทาง 9.50 กม. อยู่ระหว่างการศึกษาวงเงินลงทุน ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 72 มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีประชาสงเคราะห์ ผ่านเคหะชุมชนดินแดง เข้าสู่พื้นที่ของศูนย์คมนาคมมักกะสัน

เลี้ยวขวาอีกครั้งที่แยกอโศก-เพชรบุรี ยกระดับข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วนเพชรบุรี แล้วเข้าสู่แนวถนนวิทยุ ผ่านแยกเพลินจิต

สถานทูตอเมริกา แยกสารสิน สวนลุมพินี ยกข้ามสะพานลอยไทย-เบลเยี่ยม ถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนสาทร ไปสิ้นสุดที่แยกสาทร-นราธิวาส จุดตัดถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี

 11.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา-แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.60 กม. วงเงิน 3,000 ล้านบาท ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 72 มีแนวเส้นทางเริ่มจากสถานีลาดพร้าว

ที่เชื่อมต่อสายสีน้ำเงิน และสายสีเหลือง วิ่งมาตามแนวถนนรัชดาภิเษก ผ่านศาลอาญา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เชื่อมแยกรัชโยธิน ระหว่างสถานีพหลโยธิน 24 กับสถานีรัชโยธิน ซึ่งเป็นแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต