จากปรากฎชื่อของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฉางซิน เอ็นเตอร์ไพร์ส เป็น 1 ใน 11 บริษัทที่มีการส่งออกปลาหมอสีคางดำที่เป็นปลาสวยงามที่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการเล็ดลอดปลาหมอคางดำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และกระทบต่อบ่อปลา บ่อกุ้งของเกษตรกรได้รับความเสียหาย และปลาหมอคางดำยังขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วพบใน 16 จังหวัด ซึ่งทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนกำลังเร่งช่วยกันกำจัดในขณะนี้นั้น
นายชาญณรงค์ ลพพิริยะวงศ์ หุ้นส่วน หจก.ฉาง ซิน เอ็นเตอร์ไพร์ส ชี้แจงข้อเท็จจริงกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข่าวมีความบิดเบือน ซึ่งในรายละเอียดของข้อเท็จจริง บริษัทมีการส่งออกเป็นลูกปลานิล ที่เป็นปลาเศรษฐกิจไปยังเมืองลาฮอร์ ของประเทศปากีสถานในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่หลังจากเกิดโควิดในปี 2563 บริษัทก็ไม่ได้ส่งออกอีกเลย
อย่างไรก็ดี “ปลานิล” ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจที่บริษัทส่งออกไปปากีสถาน มีเป้าหมายเพื่อนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อเพื่อการบริโภคในปากีสถาน โดยลูกปลาที่ส่งไปมีขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร ทั้งนี้จากปลานิลมีชื่อสามัญว่า Nile Tilapia ซึ่งเป็นปลาตระกูลเดียวกับปลาหมอ ขณะที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบริษัทส่งออกปลาหมอคางดำ
“ที่สื่อมวลชนได้ข้อมูลมาทั้งชื่อบริษัท ที่อยู่อะไรตรงเป๊ะหมด ซึ่งบริษัทเราเป็นบริษัทคนไทย แต่ตั้งชื่อออกจีน ๆ บางคนก็นำบริษัทเราไปโยงกับจีนสีเทา ซึ่งเป็นคนละเรื่อง จากข้อมูลที่ปรากฎตามข่าวมาจากไหนเราไม่ทราบ แต่ก็คงจากกรมประมง แต่ว่าสื่อไปเอาข้อมูลมาไม่หมด ไม่ได้ถามบริษัทให้แน่นอนว่า Tilapia คือปลาอะไร พอดูว่าเป็น Tilapia ก็ไปสันนิษฐานว่าเป็นปลาหมอคางดำ ทำให้เราซึ่งเป็นผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ ทั้งนี้บริษัทได้ติดต่อไปยังกรมประมงในวันนี้ (25 ก.ค. 2567) ซึ่งทางกรมบอกมันไม่เกี่ยวกับคุณ”
นายชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า โดยธรรมชาติของปลาหมอคางดำไม่มีคนเพาะเลี้ยง แต่มีบริษัทใหญ่นำเข้ามาเพื่อวิจัยและพัฒนาเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นปลาเศรษฐกิจ โดยจะนำมาผสมพันธุ์กับปลานิลของไทยแต่ไม่สำเร็จ เพราะปลาหมอคางดำเป็นปลาอมไข่ แต่ปลานิลไม่ใช่ปลาอมไข่ จะนำมาผสมพันธุ์กันได้อย่างไร จากเป็นคนละสายพันธุ์ ปัจจุบันทางบริษัทยังมีการส่งออกปลาสวยงาม ได้แก่ ปลาเงิน ปลาทอง ปลาคราฟ ปลาหางนกยูง ปลาสอด เป็นต้น โดยส่งออกไปปากีสถานเป็นหลัก
“ในเรื่องนี้ต้องเอาข้อมูลมาให้ครบว่าฉาง ซินฯ ส่งออกปลาอะไรบ้าง ทำมากี่ปีแล้ว ซึ่งเมนหลักที่เราส่งออกเวลานี้คือปลาสวยงาม ก่อนหน้านี้มีการส่งออกลูกพันธุ์ปลานิลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่ถึงสองปีที่ส่งไป เพราะปลาพวกนี้มีฤดูกาลของมัน ที่เพาะพันธุ์ได้ปีหนึ่งก็มีอยู่ช่วงเดียวเอง พอระยะหลังที่ปากีสถานเขาเพาะพันธุ์เองได้แล้ว ก็ไม่ได้สั่งเรา”นาย ชาญณรงค์ กล่าวชี้แจง