รายงานข่าวจากกรมศุลกากร แจ้งว่า กรณีที่มีกระแสข่าว 11 บริษัท ส่งออกปลาหมอคางดำ โดยแจ้งเป็นปลาสวยงามนั้น กรมศุลกากรไม่ได้เก็บข้อมูลการส่งออกเป็นปลาหมอคางดำ แต่กรมเก็บพิกัดการส่งออกเป็นปลามีชีวิต สำหรับสวยงาม และไม่ได้เก็บสถิติการส่งออกปลาหมอคางดำ เพราะการกำหนดพิกัดภาษีศุลกากรไม่ได้แยกประเภทสายพันธุ์ปลาว่าเป็นสายพันธ์อะไรบ้าง แต่เป็นการจัดกลุ่มโดยรวมตามหลักสากลทั่วโลก
ทั้งนี้ ข้อมูล 11 บริษัทที่กรมประมงให้สัมภาษณ์นั้น เป็นการให้อนุญาตในการส่งออก แต่ในพิกัดของกรมนั้นจะระบุเป็นปลามีชีวิต สำหรับสวยงาม ตามใบอนุญาตของกรมประมง ซึ่งพิกัดของการจัดเก็บภาษีอากรดังกล่าว อยู่ที่ปะเภท 0301.99
ส่วนกรณีที่บริษัทได้นำเข้าปลาหมอคางดำ ซึ่งปัจจุบันปลาหมอคางดำอยู่ใน 13 ประเภทรายการห้ามนำเข้านั้น ส่วนนี้จะต้องไปถามรายละเอียดทางกรมประมงว่าอนุญาตให้นำเข้ามาได้เช่นไร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรม เนื่องจากกรมมีหน้าที่ดำเนินการตามใบอนุญาตที่กรมประมงออก
ขณะเดียวกัน กรมไม่มีอำนาจไปตรวจสอบการส่งออก และนำเข้ากรณีดังกล่าว เนื่องจากดำเนินการตามใบอนุญาตที่กรมประมงออกให้กับบริษัท ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ต้องให้กรมประมงชี้แจงรายละเอียด
สำหรับข้อมูลจากกรมประมง เกี่ยวกับการส่งออกปลาหมอสีคางดำ พบว่า ในช่วงระหว่างปี 2556-2559 ประเทศไทยได้ส่งออกปลาหมอสีคางดำ เป็นปลาสวยงามมากว่า 320,000 ตัว มูลค่าส่งออกรวม 1,510,050 บาท โดยมีบริษัทที่มีรายได้จากการส่งออกปลาชนิดนี้รวม 11 ราย ในช่วงปี 2556-2559
ข้อมูลของ กรมประมง ระบุรายชื่อบริษัทที่ส่งออกปลาหมอคางดำมากที่สุดถึง 162,000 ตัว คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฉาง ซิน เอ็นเตอร์ไพร์ส รองลงมาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซีฟู๊ดส์ อิมปอร์ต - เอ็กซ์ปอร์ต ส่งออก 30,000 ตัว, บริษัท นิว วาไรตี จำกัด ส่งออก 29,000 ตัว, บริษัท พี.แอนด์.พี อควาเรี่ยม เวิลด์ เทรดดิ้ง จำกัด ส่งออก 3,638 ตัว และ บริษัท ไทย เฉียน หวู่ จำกัด ส่งออก 2,900 ตัว
ส่วนบริษัทที่เหลือ พบว่ามีการส่งออกปลาหมอคางดำ ปริมาณตั้งแต่ 100-900 ตัวต่อราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อควาติก จำกัด, บริษัท เอเชีย อะควาติคส์ จำกัด, บริษัท หมีขาว จำกัด, บริษัท สยาม ออร์นาเมนทอล ฟิช จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี อควอเรียม และห้างหุ้นส่วนจำกัด สมิตรา อแควเรี่ยม