เปิดแผนรัฐบาลคุมทุจริต โครงการเติมเงินดิจิทัล10,000 บาท

01 ส.ค. 2567 | 09:03 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2567 | 09:11 น.

รัฐบาล คลอดแนวทางการป้องกันปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการเติมเงินดิจิทัล10000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอแผนคุมมาให้รับทราบเรียบร้อย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ รัฐบาลได้รับทราบแนวทางการป้องกันปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าขายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ได้รายงานถึงปัญหา สาเหตุ และแนวทางการป้องกัน เข้ามายังคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet พิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับแผนการคุมทุจริต โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ระบุถึงสภาพปัญหาของการดำเนินโครงการว่า อาจมีสาเหตุ และปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น การกรอกข้อมูลเท็จเพื่อให้ได้สิทธิ มีขบวนการซื้อสิทธิ นำเงินที่ได้ไปแลกเงินสด ซื้อสินค้าที่ไม่อยู่ในบัญชี การหลอกลวงผู้ด้อยโอกาส และการปลอมจีพีเอส

รวมไปถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่ในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับการป้องกันภัยทางด้านไซเบอร์ เพื่อเข้ามากระทำทุจริตเกี่ยวกับระบบของโครงการ โดยเฉพาะการมีแฮกเกอร์เข้ามาโจมตีแม่ข่าย และมีแฮกเกอร์เข้ามาควบคุมเครื่องมือในการทำธุรกรรมทางการเงินในโครงการ 

ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งถึงแนวทางการป้องกันหลายข้อ โดยเสนอว่าควรเริ่มต้นด้วยการสร้างการรับรู้ และการสื่อสารให้เข้าใจง่าย รวมทั้งมีสายด่วนในการชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ทั้งของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 

ขณะที่การใช้งานนั้น แนะนำว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการควรมี 1 User 1 Account 1 Device หรือหนึ่งคนหนึ่งชื่อหนึ่งเครื่อง และซิมโทรศัพท์ต้องตรงกับชื่อผู้ใช้งาน รวมทั้งมีระบบยืนยันตัวตน สแกนใบหน้า และ OTP พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันการใช้ระบบ GPS ปลอม เพื่อใช้สิทธิในโครงการ และยังขอให้มีระบบห้ามถ่ายภาพหน้าจอ และ QR-Code ในลักษณะเดียวกับแอปพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆ 

ส่วนการตรวสอบการกระทำของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ควรตรวจสอบร้านค้าอย่างจริงจัง และต้องมีระบบแจ้งเตือนร้านที่มีความถี่ในการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ โดยมีการเก็บภาพถ่ายกรณีธุรกรรมผิดปกติ เช่น ร้านที่ไม่มีพิกัด หรือรายการที่ใช้จ่ายสูง พร้อมกำหนดบทลงโทษร้านค้าที่ทำผิดเงื่อนไขที่ชัดเจน และขอให้มีการกำหนดเพดานการใช้สิทธิต่อวันของโครงการเอาไว้ด้วย และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการหากจะถอนเงินได้ต้องลงทะเบียนด้วยโทรศัพท์รายเดือนด้วย 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังแจ้งด้วยว่า ด้านการใช้งานแอปพลิเคชัน ควรตรวจจับการดักรับข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และการควบคุมเครื่องผ่านทางไกลได้ เพื่อแจ้งเตือน หรือระงับการทำธุรกรรมทันที โดยสามารถแจ้งเตือน หรือผู้ใช้งานสามารถรายงานปัญหาได้ พร้อมกับระงับธุรกรรมตามเงื่อนไข หรือตามที่ผู้แทนหน่วยงานร้องขอได้แบบ Real Time อีกทั้งแอปนี้ต้องห้ามไม่ให้หมายเลข IP จากต่างประเทศใช้งาน หรือเข้าแม่ข่ายโครงการฯ อีกด้วย

อย่างไรก็ตามในแนวทางการตรวจสอบ วินิจฉัย ร้องทุกข์ และการเรียกเงินคืนนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอว่า ควรมีการจัดตั้งคณะทำงานแบบพหุภาคี โดยร่วมกันปฏิบัติงานทุกระดับตั้งแต่ระดับกระทรวง จังหวัด และอำเภอ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะจัดตั้งศูนย์ในทุกระดับทั่วประเทศ มีระบบแจ้งเหตุ ร้องทุกข์ และร้องเรียน ก่อนจะมีระบบบันทึกข้อมูล ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อควบคุมตรวจสอบติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ยังให้จัดทีมพนักงานสอบสวนเฉพาะ รวมปฏิบัติภารกิจรับรองการแจ้งความทั่วประเทศ ตลอด 24 ชม. และให้มีคณะทำงานตรวจสอบร้านค้า คณะทำงานตรวจสอบ วินิจฉัย คณะทำงานเรียกเงินคืนต่อไป