นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวประเด็นรัฐบาลไทยทำอุตสาหกรรมผลิตรถในประเทศที่เคยเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย กลายเป็นตำนานหลังให้เงินอุดหนุนเพื่อซื้อรถไฟฟ้าอีวี (EV) ส่งผลให้รถไฟฟ้าจีนยอดพุ่งทำยอดขายรถสันดาป ใช้น้ำมันค่ายญี่ปุ่นที่ผลิตภายในประเทศลดลงทันที
รวมถึงมีการย้ายฐานกลับกระทบโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไทยต้องปิดตัวหรือปลดคนงาน และทำให้มาเลเซียขึ้นแชมป์กลายเป็นเบอร์ 2 แทนที่ไทยว่า ด้วยสภาพอากาศแปรปรวนและภัยพิบัติธรรมชาติ ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (CO2)
โดยบางประเทศมีมาตรการห้ามนำเข้ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในปี 2578 หรือบางประเทศมีมาตการภาษีควบคุมการนำเข้า เพื่อให้พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แข่งขันได้ และสอดรับกับความต้องการของตลาดโลก
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลเปิดกว้างโดยส่งเสริมการลงทุนและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ ตั้งแต่รถยนต์ไฮบริด (HEV) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ล้วน (BEV)
ทั้งนี้ 25 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV รวมถึงส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในประเทศ โดยเปิดกว้างสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ทุกสัญชาติ และมีมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น สิทธิประโยชน์ภาษีและมิใช่ภาษี รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนามาตรฐาน ศูนย์ทดสอบและวิจัยยานยนต์ และการพัฒนาแรงงานฝีมือ
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการผลิตในประเทศ รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการส่งเสริมการใช้ เช่น มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือ EV3 และ EV3.5 โดยที่ผ่านมามีค่ายรถยนต์สัญชาติ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และไทย เข้าร่วมกว่า 14 ราย ซึ่งได้ให้การอุดหนุนเงินสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ รวม 6,700 ล้านบาท และมีผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับ BEV รวม 18 โครงการ เป็นเงิน 39,000 ล้านบาท กำลังการผลิตตามแผนรวม 400,000 คันต่อปี
ขณะเดียวกันยังมีในส่วนของการเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การเพิ่มเติมกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญในเขต Freezone เพื่อให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผู้ผลิตรถยนต์กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ
นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า สาเหตุของการปิดตัวโรงงานผลิตรถยนต์ ICE และการลดกำลังการผลิต ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สืบเนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 GDP โตน้อยกว่า 2% โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปี 2566 สืบเนื่องจากผลกระทบของปัญหาหนี้เสียในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์
ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่เข้มงวดโดยเฉพาะรถกระบะ ICE ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการผลิตหรือใช้รถกระบะ BEV เพราะผู้ซื้อไม่สามารถผ่อนชำระงวดได้จากสภาพคล่องทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง จากสภาพตลาดในประเทศที่ชะลอตัวจากเหตุผลข้างต้น ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องลดกำลังการผลิต และผู้ผลิตรถยนต์ 2 ราย มีแผนที่จะปิดโรงงาน คือ โรงงานซูบารุ ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 หลังจากยุติการผลิตในประเทศมาเลเซียในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออกไปไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม
และบริษัทไม่สามารถควบคุมราคาจำหน่ายได้ โดยในปี 2566 มีจำนวนพนักงาน 400 คน มีการผลิต/จำหน่ายรถยนต์ รวม 1,600 คัน และนำเข้าชิ้นส่วนจากอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่โรงงานซูซูกิ จำนวนพนักงาน 800 คน ประกาศเตรียมยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยภายในช่วงสิ้นปี 2568 เนื่องจากการทบทวนโครงสร้างการผลิตของซูซูกิทั่วโลก ถึงแม้จะยุติการผลิตในประเทศ แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ส่งให้กับบริษัท ซูซูกิฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากมีการผลิตส่งให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นด้วย โดยในปี 2566 มีการผลิตประมาณ 11,000 คัน
แรงงานที่ได้รับผลกระทบกระทรวงฯได้มีการเตรียมแผนรองรับ เช่น การพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมเตรียมความพร้อมแรงงานทักษะฝีมือ สำหรับความต้องการของผู้ผลิตรายใหม่ที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงาน และมีแผนการผลิตในปี 2567-2568 ซึ่งมีความต้องการแรงงานกว่า 5,000 คนต่อปี โดยในปี 2567 กระทรวงฯโดย สศอ. ร่วมกับสถาบันยานยนต์ พัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมแรงงานฝีมือจาก 2 โรงงาน และผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งการพัฒนา Platform เชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้ใช้ เพื่อเพิ่มช่องทางตลาดชิ้นส่วนอะไหล่ (REM) สำหรับ ICE และยานยนต์สมัยใหม่
นอกจากการสนับสนุน BEV รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เช่น HEV และ PHEV ตั้งแต่ปี 2560 อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ผลิตยานยนต์ ICE ซึ่งเป็นผู้ผลิตส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการส่งเสริมการผลิตรถยนต์กึ่งไฟฟ้า หรือ รถยนต์ไฮบริด (HEV) ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการภาษีสรรพสามิต และมาตรการอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตรถยนต์ HEV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยในปี 2566 มีการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน และยอดการผลิตเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 รวม 85,916 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้การสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และกำหนดหลักเกณฑ์ผู้รับสิทธิ โดยให้ความสำคัญกับการปล่อย CO2 การใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และการพัฒนาระบบช่วยเหลือการขับขี่ (ADAS) ซึ่งมีผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมมาตรการแล้ว ประมาณ 4-5 ราย และมีตัวเลขการลงทุนรวมใน 4-5 ปีข้างหน้า ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท