ราคาน้ำมัน-อาหาร ดัน “เงินเฟ้อ” กรกฎาคม 2567 บวก 0.83%

07 ส.ค. 2567 | 03:12 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 03:51 น.

กระทรวงพาณิชย์ เปิดตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 108.71 เพิ่มขึ้น 0.83% ปัจจัยจากราคาน้ำมัน สินค้ากลุ่มอาหารแพงขึ้น

วันที่ 7 สิงหาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 108.71 เพิ่มขึ้น 0.83%

โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ทั้งราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภสวะเงินเฟ้อไม่มากนัก 

อย่างไรก็ตามหากดูจากอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น 0.62 % และยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ที่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข

และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียน จาก 9 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ( บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม สปป.ลาว)

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 สูงขึ้น 0.19%ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  0.18% ปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป และผลไม้สด ขณะที่ผักสด ข้าวสารเจ้า และไก่ย่าง ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.21% จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ ของใช้ส่วนบุคคล และเสื้อยืดบุรุษและสตรี เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม 2567 คาดว่าจะใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่

  • ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า จากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ
  • ราคาเนื้อสุกรยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า 
  • ราคาผักสดมีแนวโน้มลดลง
  • ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง โดยเดือนสิงหาคม 2566 ราคาอยู่ที่ประมาณ 86.61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ยล่าสุดอยู่ที่ 79.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ณ วันที่ 30 ก.ค. 2567)

สำหรับปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่

  • ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบินตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
  • ราคาผลไม้ปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน และเงาะ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ค่ากลางร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง