“หอการค้า” ห่วงการเมืองแรง เศรษฐกิจเปราะบาง กดจีดีพีไทยโตตํ่า 3%

07 ส.ค. 2567 | 07:51 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 08:00 น.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนนโยบายด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

ผ่านมา 11 เดือน ผลงานรัฐบาลเข้าตามากน้อยแค่ไหน ทิศทางเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร ปัจจัยบวก-ปัจจัยเสี่ยงไทยในเดือนที่เหลือของปีนี้มีอะไรบ้างที่ต้องรับมือ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น กล่าวว่า การประเมินผลงานรัฐบาลต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาในช่วงจังหวะที่มีโจทย์ยากด้านเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ภาวะความไม่ชัดเจนของสงคราม การจัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินล่าช้า ทำให้ช่วงแรกจึงเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาอาจจะไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

มาถูกทางดันท่องเที่ยวโต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลมาถูกทางคือการเร่งการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลมีนโยบายเชิงรุกในการเปิดประเทศต้อนรับนักลงทุนจากต่างชาติ และนักท่องเที่ยวโลก จากที่มีมาตรการยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศไทยในหลายสิบประเทศ หอการค้าไทยจึงเชื่อว่าในภาคของการท่องเที่ยวปีนี้จะมีความโดดเด่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 37-39 ล้านคน

นอกจากนี้การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สิ่งนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน หอการค้าอยากให้รัฐบาลมีการเร่งยกระดับ EEC ให้สามารถดึงดูดการลงทุนได้อย่างรวดเร็วเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ต่างชาติที่สนใจตัดสินใจเข้ามาลงทุนได้สะดวก

ห่วงปากท้อง-จี้เร่ง 4 เรื่องใหญ่

ด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน สิ่งนี้เป็นประเด็นที่หอการค้าฯมีความเป็นห่วง และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แม้ภาพการท่องเที่ยวของไทยเติบโตได้โดดเด่น แต่ในส่วนของกำลังซื้อและภาคการผลิตของไทยยังไม่ฟื้นตัวตามที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะปัจจัยที่เกิดจากต้นทุนและค่าของชีพของประชาชนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นแรงกดดันให้กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว

“หอการค้า” ห่วงการเมืองแรง เศรษฐกิจเปราะบาง กดจีดีพีไทยโตตํ่า 3%

  • สำหรับมาตรการเร่งด่วนที่หอการค้าฯ อยากให้รัฐบาลเดินหน้าเต็มที่คือ

1. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้รวดเร็วและมากที่สุด 2.ในระหว่างเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs)จำนวนมาก ยังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ หอการค้าไทยอยากให้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าให้ง่ายและสะดวก ซึ่งถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบที่ประสบปัญหาสามารถกลับมาดำเนินกิจการต่อได้ รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนควบคู่ไปด้วยกัน

3.การส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน จะเป็นโอกาสให้ SMEs ไทย สามารถขยายตลาดและสร้างการเติบโตได้ในตลาดเพื่อนบ้าน สิ่งเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันมูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย 4.ส่วนในระยะกลางและยาว ที่ผ่านมาปัญหานํ้าท่วมและนํ้าแล้งซํ้าซาก สร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคการเกษตรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

“หอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลรื้อฟื้นแผนการวางระบบบริหารจัดการนํ้าในอดีตที่รัฐบาลได้เคยนำเสนอไว้ โดยนำแผนเดิมมาปรับปรุงและเร่งผลักดันโครงการที่สามารถดำเนินการได้ก่อนผ่านงบประมาณปี 2568 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับภาคเกษตรและประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที”

จีดีพีทั้งปีโตไม่ถึง 3%

นายสนั่น กล่าวอีกว่า ทางหอการค้าฯ คาดการขยายตัวของจีดีพีไทยในปี 2567 กรณีไม่รวมเงินดิจิทัล ประเมินเศรษฐกิจปีนี้น่าจะเติบโตได้ 2.4-2.6% ส่วนกรณีรวมเงินดิจิทัล หากประชาชนสามารถใช้เงินได้จริงต้นเดือนธันวาคมเป็นต้นไปหรือประมาณ 1 เดือน จนถึงสิ้นปีนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก 0.25-0.5% หรือทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 เติบโตได้ 3.0-3.5% ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นได้ 0.1% ทำให้ทั้ง ปี 2567 เศรษฐกิจจะเติบโตได้ 2.6-2.7%

ทั้งนี้ปัจจัยภายใน ที่เป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในเดือนที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ การฟื้นตัวอย่างโดดเด่นของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตลอดทั้งปีอาจพึ่งสูงแตะสถิติเดิมที่เคยทำไว้เมื่อปี 2562 ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการที่รัฐบาลยกเว้นวีซ่า 60 วันให้กับ 93 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 21 ก.ค. 2567 ทะลุ 19.6 ล้านคน สร้างรายได้ 9.2 แสนล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสูงถึง 37-39 ล้านคน จากเดิมเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 36 ล้านคน

ถัดมาคือการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งภาคการส่งออก ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐและเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการส่งออกของไทยปีนี้จะเติบโตได้ 0.8-1.5% และจากที่สินค้าเกษตรจะออกสู่ท้องตลาดในช่วง พ.ย.-ธ.ค. จะส่งผลให้กำลังซื้อภาคเกษตรจะกลับมาดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบ สิ่งที่เอกชนกังวลคงเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศโดยเฉพาะการตัดสินคดีของนายกรัฐมนตรี และการตัดสินคดียื่นยุบพรรคก้าวไกล สิ่งเหล่ามีผลต่อกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับ ภาระหนี้สินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ยังมีส่วนกดดันการบริโภคของครัวเรือนไทยที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงการเร่งตัวขึ้นของหนี้ที่จะเปลี่ยนไปเป็น NPL ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะสินเชื่อในกลุ่มรถยนต์ บัตรเครดิต และอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง-ล่าง