ผ่ามติครม. "การบินไทย" ทำศูนย์ซ่อมบำรุง MRO อู่ตะเภา ก่อล้มแผน

09 ส.ค. 2567 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2567 | 09:41 น.

เปิดมติครม. โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา หรือ MRO ซึ่งมอบ “การบินไทย” ดำเนินการ เช็ครายละเอียดโครงการทั้งหมด ก่อน EEC เตรียมล้มแผน เปิดประมูลใหม่ดึงเอกชนทั่วโลกลงทุน

กรณีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ประกาศเตรียมขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเคยให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) พื้นที่ 210 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง เพื่อนำพื้นที่ไป เปิดประมูลใหม่แบบนานาชาติ เพื่อดึงนักลงทุนทั่วโลกเข้าร่วมโครงการนั้น 

ฐานเศรษฐกิจ ขอพาย้อนไปดูที่มาที่ไปของการผลักดันโครงการยักษ์มูลค่าหลายพันล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญและส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก บริเวณ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ตามเอกสาร สกพอ. ซึ่งเสนอที่ประชุมครม. พิจารณาข้อเสนอขออนุมัติโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ระบุที่มาที่ไปของการผลักดันโครงการ MRO ว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้มีมติเห็นชอบให้โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน อู่ตะเภา เป็นโครงการใน EEC Project List ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการศูนย์ซ่อมฯ แก้ไขเพิ่มเติมตามความเห็นของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องต่อ สกพอ. เพื่อให้ สกพอ. นำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการศูนย์ซ่อมฯ MRO อู่ตะเภา

จนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ในการประชุมบอร์ด กพอ. ก็ได้มีมติเห็นชอบหลักการของโครงการศูนย์ซ่อมฯ ตามข้อเสนอของ สกพอ. ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในการประชุม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 แล้ว และให้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบาย โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

สาระสำคัญโครงการศูนย์ซ่อมฯ

สาระสำคัญของหลักการของโครงการศูนย์ซ่อมฯ ของการบินไทย เป็นตามข้อของประกาศ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง รูปแบบและรายละเอียดของรายงาน การศึกษาและวิเคราะห์โครงการ พ.ศ. 2560 มีวัตถุประสงค์ของโครงการศูนย์ซ่อมฯ ดังนี้

1. จัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอันดับหนึ่งที่มีมาตรฐานระดับโลก ในเรื่องการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ตรงต่อเวลาในราคาที่เหมาะสม มีคุณภาพ และมีความปลอดภัย (On Time, On Cost, On Quality)

2. เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) ให้เป็นรูปธรรม ที่จะยกระดับขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องของการซ่อมบำรุงอากาศยานรุ่นใหม่ ทั้งอากาศยานลำตัวกว้าง และอากาศยานลำตัวแคบ (Mixed Fleet) ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของช่างอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

3. เป็นโครงการศูนย์ซ่อมฯ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการให้บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการซ่อมบำรุงอากาศยาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของสายการบินในประเทศไทยในการส่งอากาศยานไปซ่อมบำรุงยังต่างประเทศ และเพิ่มรายได้จากต่างประเทศให้ไทยจากการให้บริการด้านการซ่อมบำรุงแก่สายการบินอื่นในและนอกภูมิภาค และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการซ่อมบำรุงอากาศยาน ระดับโลกมายังหน่วยงานของรัฐ บุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

ขอบเขตของโครงการศูนย์ซ่อมฯ

โครงการศูนย์ซ่อมฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ (พื้นที่โครงการศูนย์ซ่อมฯ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก โดยจะมีรายละเอียดขอบเขตของโครงการศูนย์ ซ่อมฯ ดังต่อไปนี้

การก่อสร้างของโครงการศูนย์ซ่อมฯ

1. งานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานใหม่ ได้แก่ โรงซ่อมอากาศยาน โรงพ่นสีอากาศยาน อาคารซ่อมบริภัณฑ์ อาคารสาธารณูปโภค และอาคารสนับสนุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย กองทัพเรือ (ทร.) ในกรอบงบประมาณ 6,333 ล้านบาท

2. งานออกแบบ จัดหา และติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือในอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานใหม่

3. งานออกแบบและก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มเติม เพื่อขยายขีดความสามารถในอนาคต รวมถึง งานออกแบบ จัดหา และติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือในอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มเติม (ถ้ามี) เพื่อให้การดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมฯ ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ โครงการศูนย์ซ่อมฯ

4. งานออกแบบและก่อสร้างระบบเชื่อมต่อและระบบการส่งลำเลียงสาธารณูปโภค เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมฯ จากบริเวณภายในพื้นที่ของโครงการศูนย์ซ่อมฯ ไปยังระบบเชื่อมต่อ และระบบการส่งลำเลียงสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ภายนอกเขตพื้นที่ของโครงการศูนย์ซ่อมฯ เช่น ระบบไฟฟ้า และระบบบำบัดน้ำเสีย

การให้บริการและการซ่อมบำรุงรักษาของโครงการศูนย์ซ่อมฯ

1. การให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน 

โครงการศูนย์ซ่อมฯ จะให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานแก่อากาศยานทั้ง ลำตัวกว้างและลำตัวแคบ โดยครอบคลุมอากาศยานจากบริษัทผู้ผลิตอากาศยานต่าง ๆ ในโลก

ส่วนขอบเขตกิจกรรมในการซ่อมบำรุง กำหนดการซ่อมใหญ่อากาศยาน เช่น การซ่อมบำรุง Airframe ระดับ A-Check C-Check และ D-Check ตามแผนการซ่อมบำรุงของผู้ผลิต การซ่อมบำรุงและซ่อมใหญ่โครงสร้าง อากาศยาน การตรวจซ่อมโครงสร้างตามระยะเวลา การแก้ไข การปรับปรุง การติดตั้งใหม่ และการซ่อมบำรุงภายในห้องโดยสารและห้องเก็บสัมภาระ

รวมทั้ง การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด การพ่นสีอากาศยานและส่วนประกอบอื่น โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ กิจกรรมอื่นในการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทำให้การดำเนินโครงการ ศูนย์ซ่อมฯ ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการศูนย์ซ่อมฯ

อย่างไรก็ตามขอบเขตกิจกรรมในการให้บริการซ่อมบำรุงที่อาจให้สิทธิแก่พันธมิตรทางธุรกิจของการบินไทย หรือ ของเอกชนที่จะได้รับการคัดเลือกให้ร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมฯ ดำเนินการ เช่น การให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อากาศยาน การให้บริการการซ่อมบำรุงและการถอดเปลี่ยนอุปกรณ์และบริภัณฑ์อากาศยาน โดยที่บริษัทร่วมทุนต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินงานให้บริการซ่อมบำรุงดังกล่าวของพันธมิตรทางธุรกิจ

นอกจากนี้ในการซ่อมบำรุงรักษา กำหนดการซ่อมบำรุงรักษาอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานใหม่ ที่ก่อสร้างโดย ทร. รวมทั้งการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือในอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานใหม่ และการซ่อมบำรุงรักษาอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มเติม รวมถึง อุปกรณ์และเครื่องมือในอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มเติม (ถ้ามี)

รวมไปถึงการให้บริการและการซ่อมบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคของโครงการศูนย์ซ่อมฯ รวมถึงส่วนเชื่อมต่อกับระบบการส่งลำเลียงสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ ภายนอกเขตพื้นที่ของโครงการศูนย์ซ่อมฯ เช่น ระบบไฟฟ้า และระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงิน 

ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ระยะเวลาโครงการ 50 ปี มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 21.06 และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการ (NPV) ประมาณ 8,721 ล้านบาท (อัตราคิดลดที่ร้อยละ 12)

ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ร้อยละ 9.69 และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ของโครงการ (NPV) 2,255 ล้านบาท (อัตราคิดลดที่ร้อยละ 8.64)

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

โครงการศูนย์ซ่อมฯ ไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาแล้วเห็นว่าอาคารศูนย์ซ่อม บำรุงอากาศยานอู่ตะเภามีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ที่ไม่มีลักษณะที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งทะเล ทะเลสาบหรือชายหาด หรือที่อยู่ใกล้หรือในอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

จึงไม่เข้าข่ายเป็นประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่ต้อง จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555 

ทั้งนี้ที่ประชุม ครม. ได้มีมติอนุมัติในหลักการโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ กองทัพเรือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โครงการฯ เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ 

ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย