thansettakij
รมว.คลัง ตั้งกรรมการดันไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ประชุมนัดแรกสัปดาห์นี้

รมว.คลัง ตั้งกรรมการดันไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ประชุมนัดแรกสัปดาห์นี้

13 ส.ค. 2567 | 04:04 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2567 | 04:10 น.

รมว.คลัง ตั้งกรรมการยกร่างกฎหมายตั้งศูนย์กลางทางการเงิน “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” เป็นประธาน ประชุมนัดแรกสัปดาห์นี้

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ด้วยรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในการยกระดับการเงินของประเทศไทยโดยการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ในระดับภูมิภาคและระดับโลกนั้น เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าวครั้งแรกในสัปดาห์นี้

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีทั้งหมด 34 คน โดยมีตนเป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน รวมทั้งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ อาทิ

  • ธนาคารแหงประเทศไทย (ธปท.)
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) 
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
  • สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 
  • กรมการกงสุล
  • กรมสรรพากร.
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นต้น 

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub จำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub ที่เหมาะสม การให้สิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกและการพัฒนาสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ด้านต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการเป็น Finandal Hub ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหลายฉบับ 

“ในการนี้ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน”

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะมีอำนาจ ได้แก่

1. ศึกษา เสนอแนะ และจัดทำนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน มาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการเห็นสมควร

3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการ

4. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมาย