คลังพร้อมฟังความเห็น “เงินดิจิทัล” รับเดินหน้าโครงการหนี้ประเทศเพิ่ม

09 ส.ค. 2567 | 07:50 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2567 | 07:51 น.

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง พร้อมฟังความเห็น “แจกเงินดิจิทัล 10000” รับเดินหน้าโครงการหนี้สาธารณะเพิ่ม แต่เป็นกลไกปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งรายงานเสนอเรื่องเข้าครม. แนะรัฐบาลทำโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้รับความเห็น-ข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์, และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครม.

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราได้รับฟังความเห็นของหน่วยงานทุกครั้ง ไม่ว่าความเห็นจะเข้ามาที่คณะกรรมการ หรือเข้ามาที่ครม. เพื่อพิจารณาดูว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ส่วนการปรับเปลี่ยนรายละเอียด ข้อจำกัดที่ผ่านมา เราก็ได้รับเข้ามาทำ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อสังเกต

ส่วนความเห็นของสภาพัฒน์ที่มองว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการกระตุ้นการบริโภคนั้น มองว่าอาจจะเป็นมุมมองที่แตกต่าง เรามองว่ากลไกดิจิทัล วอลเล็ตเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่มิติเดียวที่เราทำ

มีทั้งกลไกการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคต การพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจระยะยาวด้วย

ด้านข้อกังวลว่าจะเป็นภาระทางการคลังในระยะยาวนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังมาโดยตลอด เรารับทราบ และจะบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 11.5 ล้านล้านบาท

“ถ้ามีการกู้ขาดดุลเพิ่มเติมสำหรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต อีก 5 แสนล้านบาท ก็จะเป็นการเติมหนี้เข้าไป ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าจะเข้าไปอยู่ในหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา หนี้สาธารณะเพิ่มจาก 5 ล้านล้านบาท เป็น 10 ล้านล้านบาท แต่เราไม่มีกลไกในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเลย”

ขณะที่กรณีมีข้อกังวลว่าการดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะเป็นการเอื้อกลุ่มทุนนั้น ยืนยันว่า เรามีกลไกหลายอย่าง เช่น การบังคับให้ใช้จ่าย 2 รอบ คือ ให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านร้านค้าขนาดเล็ก และร้านค้าขนาดเล็กจะต้องไปใช้จ่ายกับร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat), ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น

สำหรับการเปิดให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อได้เป็นร้านแรกนั้น นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า เซเว่น บิ๊กซีมินิ ประชาชนยังสามารถซื้อได้อยู่ และร้านสะดวกซื้อไม่ได้มีเท่านั้น ปัจจุบันมีร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในชนบทจำนวนมาก หากจะตัดสิทธิทั้งหมด ต้องมาพิจารณา