กรณีสื่อออนไลน์ได้มีการนำเสนอข่าวว่า มีผู้กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมกระทำผิด พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ
โดยนำเงินของธนาคารออมสินมาปล่อยกู้ผ่านโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND ทำให้ธนาคารออมสินสูญเสียรายได้ 1,150 ล้านบาท และมีการอนุมัติเงินชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ
และต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการสินเชื่อซอฟท์โลนวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้สนับสนุนธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรับไปปล่อยกู้ต่อให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs)
โดยส่วนต่างของกำไรที่ธนาคารออมสินได้รับต้องเฉลี่ยให้ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการด้วย จึงทำให้ธนาคารออมสินขาดทุน ทั้งต้นทุน ดอกเบี้ยเงินที่กู้มา และรายได้ในกรณีที่ปล่อยกู้เองรวมยอด 4,580 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่เข้าข่าย พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ
เพราะธนาคารออมสินไม่ขอรับการชดเชยรายได้ที่สูญเสียนั้น เป็นการจงใจเลี่ยง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ หรือไม่ เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ตามาตรา 28 ชนเพดานร้อยละ 32 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ถือเป็นความผิดตามมาตรา 140 และมาตรา 142 แห่งรัฐฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่
ล่าสุด นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงกรณีดังกล่าว ว่า กรณีดังกล่าวมีความไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง กระทรวงการคลังจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจและการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อ IGNITE THALAND โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารตามขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND 3 กลุ่ม ได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ และศูนย์กลางอาหาร รวมถึง Supply Chain ของกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2.5 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปีใน 2 ปีแรก รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 250 ล้านบาท ให้แก่ธนาคารออมสิน นอกจากนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ยังค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามโครงการ คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกินร้อยละ 30 โดยรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมและค่าประกันชดเชยรวมร้อยละ 18 รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 900 ล้านบาท
“การดำเนินโครงการดังกล่าวเข้าข่ายการดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เนื่องจากเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคตจากการที่รัฐบาลรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้จากการดำเนินการดังกล่าวให้แก่ธนาคารออมสินและ บสย.”
2. คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบให้ธนาคารออมสินแยกบัญชีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ GSB Boost Up เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) โดยการดำเนินโครงการดังกล่าว
ธนาคารออมสินใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารตามขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน พ.ศ. 2491
และที่แก้ไขเพิ่มเติม สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 100,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน ภายใต้วงเงินดังกล่าวธนาคารออมสินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยตรงในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่เข้าข่ายการดำเนินการตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เนื่องจากเป็นโครงการที่ธนาคารออมสินพิจารณาแล้วสามารถดำเนินการเองได้โดยไม่ได้ขอรับการชดเชยจากรัฐบาล จึงไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต โดยเพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลและสอดรับกับพันธกิจของธนาคารออมสินในการเป็นธนาคารเพื่อสังคมหรือ Social Bank
“ธนาคารออมสินจะปรับลดกำไรบางส่วนเพื่อมารองรับส่วนสูญเสียรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าวประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินพิจารณาแล้วว่าจะไม่กระทบกับฐานะและผลการดำเนินงานของธนาคารออมสิน โดยขอให้แยกบัญชีโครงการดังกล่าวเป็นบัญชี PSA เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบ และติดตามผลการดำเนินงานได้”
3. การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งรวมถึงสินเชื่อซอฟท์โลน เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กิจการมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอ
รวมถึงการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร พัฒนากระบวนการผลิต ตลอดจนขยายกิจการ ซึ่งจะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ มีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นที่นานขึ้น เพื่อช่วยลดภาระด้านต้นทุนในการเข้าถึงสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
4. ในช่วงที่ผ่านธนาคารออมสินได้มีการสนองตอบนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ทั้งโครงการที่ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรงในลักษณะเดียวกับโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND เช่น โครงการสินเชื่อ Soft loan Re-Open สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น
และโครงการที่ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในลักษณะเดียวกับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ GSB Boost Up ได้แก่ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)