ชีพจรกำลังซื้อแผ่ว คนไทยรัดเข็มขัด ลากยาวถึงกลางปี 68

14 ส.ค. 2567 | 04:14 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2567 | 04:16 น.

จับชีพจรกำลังซื้อครึ่งปีหลังแผ่วหดตัว ผู้บริโภครัดเข็มขัด เลือกของถูก รายย่อยกระอัก โรงงานปิดตัว คนตกงาน ผู้ประกอบการหืดขึ้นคอ แบกรับต้นทุนพุ่งอ่วม “ตลาดรถยนต์” โคม่า ไฟแนนซ์ไม่ปล่อยสินเชื่อ “อสังหาฯ” คาดถดถอยยาวไปถึงกลางปี 68

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กำลังซื้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังคงซบเซาต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ร้านค้าชุมชน ตลาดนัด ตลาดสด  ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนที่มีรายได้น้อยที่สุด จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจาก “คนตัวเล็ก” รัดเข็มขัดก่อนใคร

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อซบเซา มาจากหลายปัจจัย ได้แก่ โรงงานลดกำลังการผลิตและปิดตัว ส่งผลให้คนจำนวนมากตกงานหรือมีรายได้ลดลง ทำให้กำลังซื้อโดยรวมลดลงไปด้วย กลุ่มยานยนต์และทุนจีนเข้ามาแข่งขันทำให้ธุรกิจขนาดเล็กต้องเผชิญกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากขึ้น กลุ่มผู้บริโภคระดับบนแม้ยังมีกำลังซื้อ แต่ก็มีการปรับตัวและเลือกซื้อสินค้าอย่างระมัดระวัง”

สมชาย พรรัตนเจริญ

แรงกระเพื่อมจากสภาวะเศรษฐกิจซบเซาจะส่งผลกระทบในวงกว้าง การแข่งขันสูงผู้ประกอบการทุกระดับต้องแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อดึงดูดลูกค้า ผู้ประกอบการรายย่อยได้รับผลกระทบหนักที่สุดเนื่องจากไม่มีทุนสำรองเพียงพอในการปรับตัวและแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ได้

ปัญหากำลังซื้อหดตัวในต่างจังหวัดกำลังเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและการว่างงานปัญหาการว่างงานในบางอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนมีรายได้ลดลง ถือเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไข ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเอง โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

แข่งดุ ขึ้นราคาไม่ได้ หันลดปริมาณแทน 

สิ่งที่ต้องจับตา คือ “ราคาสินค้า” ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเห็นกันชัดเจนว่าสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

“แม้ในช่วงแรกจะคาดการณ์ว่าราคาสินค้าจะมีการปรับราคาสูงขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากสัญญาณการปรับขึ้นค่าแรง แต่สถานการณ์ปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากสถานการณ์ที่หืดขึ้นคอผู้ประกอบรายใหญ่คงจะตรึงราคาสินค้าไว้เช่นเดิม แต่จะมีลูกล่อลูกชนอื่น ๆ เช่น ลดปริมาณลงแบบไม่ให้รู้ตัว ในส่วนของกลยุทธ์ขายพ่วงคงจะยังไม่เห็นในช่วงสถานการณ์เช่นนี้”

ชีพจรกำลังซื้อแผ่ว คนไทยรัดเข็มขัด ลากยาวถึงกลางปี 68

อย่างไรก็ดี ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค คือต้องรู้จักเปรียบเทียบราคา ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ควรเปรียบเทียบราคาจากหลายๆ ร้านค้า เพื่อหาสินค้าที่มีราคาเหมาะสมที่สุด เลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

“สถานการณ์ราคาสินค้าในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีความไม่แน่นอน ผู้ผลิตต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในสภาวะที่แข่งขันสูง ส่วนผู้บริโภคควรมีการวางแผนการเงินที่ดี และเลือกซื้อสินค้าอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้”

ค้าปลีกชี้ คนขาดความเชื่อมั่น ขอกำเงินสด

ด้านนางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมด้านกำลังซื้อในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ถือว่ายังทรงตัว ด้วยภาวะเศรษฐกิจทั้งของไทยและเศรษฐกิจโลกที่ไม่ได้ดีนัก เช่น หุ้น ที่ลดลงอย่างมาก ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการขาดความมั่นใจในการลงทุน และอาจเลือกที่จะกำเงินสด แทนการลงทุนได้

ขณะเดียวกันสถานการณ์ตรึงเครียดจากภาวะเศรษฐกิจอาจทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะหันหาความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการกิน ดื่ม เที่ยวเพื่อผ่อนคลาย ธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงสวนน้ำ สวนสนุก ฯลฯ จึงคึกคักขึ้น

ชีพจรกำลังซื้อแผ่ว คนไทยรัดเข็มขัด ลากยาวถึงกลางปี 68

ขณะที่ในช่วง 5 เดือนที่เหลือนั้น สิ่งที่ยังจำเป็นคือ การจัดอีเว้นท์เพื่อสร้างบรรยากาศ และดึงดูดนักช้อปให้ออกมาจับจ่ายใช้เงิน ซึ่งบริษัทเตรียมแผนจัดอีเว้นท์ใหญ่ 2-3 อีเว้นท์ต่อเดือน ยังไม่รวมอีเว้นท์ย่อยที่มีขึ้นเกือบทุกวัน นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นควบคู่กันไปด้วย

“5 เดือนสุดท้ายคนอาจจะใช้จ่ายน้อยลง แต่สิ่งที่คาดหวังคือ การเพิ่มความถี่ในการมาใช้บริการ เพราะยิ่งมาบ่อยครั้งขึ้น การใช้จ่ายก็มากขึ้นตามไปด้วย ถือเป็นโอกาสของร้านค้า ซึ่งในไตรมาส 3 นี้เดอะ มอลล์ เตรียมจัดอีเว้นท์ใหญ่ คือ “ลดทะลุเกินพิกัด” กลับมาจัดอีกครั้ง หลังจากที่หยุดไปเมื่อปีก่อน ถือเป็นเฟสติวัลแห่งปี โดยไฮไลท์สำคัญคือ ซื้อทีวีแถมทีวี เป็นต้น ส่วนไตรมาส 4 ก็เตรียมจัดอีเว้นท์ใหญ่ต่อเนื่องทันที ทำให้มั่นใจว่ายอดขายโดยรวมจะยังคงเติบโต”

ตลาดรถยนต์อาการหนัก กำลังซื้อหดหาย

ขณะที่ตลาดรถยนต์ก็ส่งสัญญาณอาการหนัก กำลังซื้อหดหาย ไฟแนนซ์เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลให้ยอดขายรวมครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.67) เหลือ 308,027 คัน ลดลง 24.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเซกเมนต์รถยนต์นั่งยอดตก 19.4% และปิกอัพตก 40.7%

พี่ใหญ่ “โตโยต้า” ที่เพิ่งประกาศปรับลดเป้าการขายตลาดรวมปีนี้ เหลือ 6.5 แสนคัน ต่ำกว่าช่วงต้นปีที่ประเมินไว้ถึง 8 แสนคัน โดยยอมรับว่า การที่ไฟแนนซ์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขายรถยนต์

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า การปรับลดยอดขายดังกล่าว ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี และต่ำกว่าในช่วงที่เกิดโควิด-19 ขณะที่โตโยต้าปรับเป้าหมายการขายปี 2576 เหลือ 2.4 แสนคัน

“ตอนนี้อัตราการปฎิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินสูงขึ้นซึ่งรถปิกอัพจะมีสัดส่วนมากกว่ารถยนต์นั่ง ขณะที่บริษัทยังมีโตโยต้า ลีสซิ่ง คอยสนับสนุนลูกค้าและดีลเลอร์ ส่งผลให้ยอดขายในครึ่งปีแรกยังตกน้อยกว่าตลาด (โตโยต้ายอดขายลดลง 15%)” นายศุภกร กล่าว

นายรัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย ประเมินว่า ตลาดรถยนต์ปีนี้จะทำได้ 6.4แสนคัน ต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้ช่วงต้นปี ทำให้ฟอร์ด ต้องปรับเป้าหมายการขายใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด คาดว่าปี 2567 จะขายรวม 2.4-2.5 หมื่นคัน ลดลงจากปี 2566 ที่ทำได้ 4.3 หมื่นคัน

จากสภาพเศรษฐกิจ ไฟแนนซ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ผู้คนออกรถใหม่ยากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าปิกอัพที่ส่วนใหญ่ซื้อโดยการผ่อนชำระ และติดเงื่อนไขที่ต้องใช้เงินดาวน์สูง

“ฟอร์ดยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกชัดเจน ที่จะเข้ามากระตุ้นตลาดครึ่งปีหลัง นอกเหนือไปจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการลงทุนจากภาครัฐ จึงหวังว่าตลาดครึ่งปีหลังจะทำยอดขายเพิ่มจากครึ่งปีแรกประมาณ 10% แต่ก็ยังเป็นยอดขายที่ต่ำสุดในรอบ 14-15 ปี” นายรัฐการ กล่าว

อสังหาฯ ดิ้นเอาตัวรอด 

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ประเมินว่า กำลังซื้อภาพรวม คาดว่าน่าจะถดถอยจนถึงกลางปีหน้า ตอนนี้ภาคอสังหาฯคุยกันถึงการเอาตัวรอด เช่น ขายบิ๊กล็อต หรือ หากำลังซื้อจากต่างชาติ หากไม่ดีขึ้น ส่งผลกระทบหนักในกลุ่มบริษัทในตลาด อาจได้เห็นการเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ เสียเครดิต นำไปสู่การปิดตัวอาจเป็นได้

สำหรับภาพรวมของอสังหาฯปีนี้ ยอดขายบ้านใหม่น่าจะติดลบไปถึงกว่า 20% ส่วนบ้านที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท กระทบมากที่สุด ยอดขายตกไปกว่า 30% จากปีก่อน ส่วนบ้านที่ราคา 3-10 ล้านบาท ยอดขายตกไปราว 30% ขณะที่บ้าน Ultra Luxury ราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป ยอดขายทรงตัวจากปีก่อน