โบรกมองยอดผลิต-ยอดขายรถ ในไทยหด กำลังซื้ออ่อนแอ ชูค่ายรถ EV จีนหนุนตลาด

31 ก.ค. 2567 | 23:00 น.

ส.อ.ท.หั่นเป้ายอดผลิตรถยนต์ปี 67 เหลือ 1.7 ล้านคัน หลังครึ่งแรกปีทำได้เพียง 7.6 แสนคัน ปัญหานี้สินครัวเรือนสูงกำลังซื้ออ่อนแอ แบงก์คุมเข้มสินเชื่อ ชี้ครึ่งหลังปียอดผลิตมีโอกาสเพิ่ม จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และค่ายรถ EV ผู้ประกอบการจีนหนุน

หลังจากที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาเผยยอดผลิตรถยนต์เดือน มิ.ย.2567 ลดลง จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และจากไตรมาสก่อน ซึ่งจากการลดลงจากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากยอดขายในประเทศที่ลดลง ส.อ.ท. รายงานยอดผลิตรถยนต์เดือน มิ.ย. 2567 อยู่ที่ 1.16 แสนคัน หดตัว 20% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และลด 8% จากเดือนก่อน ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 จากยอดการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง รวมครึ่งแรกปี 2567 มียอดผลิตรถยนต์รวม 7.6 แสนคัน ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน

ยอดขายในประเทศลดลง 26% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และหดตัว 4% จากเดือนก่อน โดยรถกระบะลดลงถึง 36% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และรถ PPV ลดลง 50% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ยังมีทิศทางชะลอตัว จากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราต่ำ สถาบันการเงินจึงระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อโดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก รวมครึ่งแรกปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลง 24% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ยอดส่งออกโต 0.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่หดตัว 0.2% จากเดือนก่อน มีทิศทางทรงตัว

การส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ รวมครึ่งแรกปี 2567 ยอดส่งออกลดลง 2% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ยอดจดทะเบียนใหม่รถยนต์นั่ง BEV (ไม่เกิน 7 คน) เดือน มิ.ย. 2567 ยังลดลง จากช่วงเดียวกันในปีก่อน อยู่ที่ 5.7 พันคัน หดตัว 26% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนก่อน รวมครึ่งแรกปี 2567 มียอดจดทะเบียนใหม่ 3.6 หมื่นคัน เติบโต 16% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ทาง ส.อ.ท.ปรับเป้ายอดผลิตรถยนต์ปี 2567 ลงเป็น 1.7 ล้านคัน จากเดิม 1.9 ล้านคัน (ปี 2566 ยอดผลิต 1.84 ล้านคัน) โดยเป็นการปรับเป้าเฉพาะผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงเป็น 5.5 แสนคัน จากเดิม 7.5 แสนคัน

บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทางฝ่ายมองเป็นลบต่อบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จากยอดผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ทั้งนี้ ยังคงประเมินยอดผลิตรถยนต์ปี 2567 ลดลงเป็น 1.6 ล้านคัน หดตัว 13% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน (ปี 2566 ผลิตได้ 1.84 ล้านคัน)

และยังคงต่ำกว่าประมาณการใหม่ของ ส.อ.ท.ที่ 1.7 ล้านคัน โดยยอดผลิตรถยนต์ครึ่งแรกปี 2567 คิดเป็น 48% จากทั้งปี และยังมีแนวโน้มลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนอย่างต่อเนื่อง จากยอดขายนรถยนต์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ

สำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ยอดผลิตอาจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากการเริ่มผลิตรถ BEV เพื่อนำมาจำหน่ายมาทดแทนการนำเข้ามากขึ้น โดยประเมินว่าค่ายรถยนต์ BYD และ GAC AION จะเริ่มผลิตและจำหน่ายได้กลุ่ม Automotive ยังให้น้ำหนัก underweight ไม่มี top pick

โดย SAT แนะนำขาย ราคาเป้าหมาย 14.50 บาท เพราะประเมินกำไรปี 2567 จะลดลง -19% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมี downside จากยอดผลิตรถกระบะที่ลดลงมาก และ outlook ยังไม่สดใส จากแนวโน้มในอนาคตที่จะมีการผลิตรถกระบะ EV เพิ่มขึ้น อาจทำให้ SAT เสียประโยชน์ เนื่องจากส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถกระบะ ICE เป็นหลัก มองเป็นลบต่อหุ้นปล่อยสินเชื่อรถยนต์และจำนำทะเบียนรถ จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลง สะท้อนถึงความต้องการรถยนต์ที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวอาจไปกดดันต่อยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อที่น้อยลงและราคารถมือสองที่ยังต่ำ จากความต้องการที่ยังไม่ดีขึ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอ ทำให้มีโอกาสรับรู้ขาดทุนรถยึดที่ยังสูง โดยกลุ่มธนาคาร เราประเมินผลกระทบจากมากไปน้อย ได้แก่ KKP (ขาย/เป้า 37.00 บาท) เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่ 48%, TISCO (ถือ/เป้า 94.00 บาท) มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่ 46% และ TTB (ซื้อ/เป้า 2.10 บาท) มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่ 31%

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ส.อ.ท. รายงานตัวเลขยานยนต์ประจำเดือน มิ.ย. เทียบกับปีก่อนการส่งออกรถยนต์ยังคงเติบโตได้เล็กน้อย แต่สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศและการผลิตรถยนต์ยังคงติดลบหนัก ส่วนเทียบกับเดือน พ.ค. ลดลงทุกประเภท 

ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 มีการผลิตรถยนต์รวม 761,240 คัน ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 40% ของเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งปีที่สภาอุตสาหกรรมตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านคัน ทำให้ล่าสุดทางสภาอุตสาหกรรมจึงมีการปรับเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2567 ลงจากเดิม 11% มาอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน หดตัว 8%จากช่วงเดียวกันในปีก่อน) โดยปรับลดในส่วนของตลาดรถยนต์ในประเทศ

ทั้งนี้ ยอดผลิตในช่วงครึ่งแรกปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 45% ของเป้าผลิตใหม่ ขณะที่แนวโน้มในช่วงครึ่งหลังคาดว่าจะมีปริมาณผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการที่ค่ายรถยนต์ EV อย่าง BYD และ GAC เริ่มเดินเครื่องผลิตแล้ว ฝ่ายวิจัยจึงมองว่าเป้าใหม่มีโอกาสเป็นไปได้สูง

รวมแล้วมองว่ากลุ่มยานยนต์ยังมีโอกาสฟื้นตัวในระยะยาวจากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ทั้งกลุ่มรถพลังงานเดิมที่หันมาเน้นรถยนต์ประเภท HEV มากขึ้นและรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ "เท่าตลาด" เช่นเดิม

อย่างไรก็ดี ระยะสั้นให้ระมัดระวังผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2567 ที่คาดว่าจะออกมาไม่ดีหลังจากยอดการผลิตรวมในช่วงดังกล่าวมีเพียง 347,117 คัน ลดลง 16% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และหดตัว 16% จากไตรมาสก่อน