สธ. ผุดโครงการ นักไกล่เกลี่ย ลดฟ้องแพทย์ ประหยัดงบ 6 ล้าน/ปี

16 ส.ค. 2567 | 04:40 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2567 | 04:42 น.

สมศักดิ์ ติวเข้ม นักไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สาธารณสุข รุ่นแรก จำนวน 60 คน หวังช่วยลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ประหยัดค่าใช้จ่าย 6 ล้าน/ปี ลดปัญหาความขัดแย้ง

16 สิงหาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการจัดการความขัดแย้งในระบบสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 รุ่นที่ 1 โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.นิชาภา สวัสดิกานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า คณะผู้บริหาร และผู้รับการอบรม เข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นได้ทุกสาขาอาชีพ รวมถึงวงการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีคดีที่ขึ้นสู่ศาลประมาณ 30 คดีต่อปี รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายประมาณ 200,000 บาทต่อคดี หรือประมาณ 6 ล้านบาทต่อปีและเพื่อทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลน้อยลงลดปัญหาความขัดแย้งและลดงบประมาณแผ่นดิน

จึงมีการตรา พ.ร.บ. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ขึ้น โดยกำหนดให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือการดำเนินการเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงเพื่อระงับข้อพิพาททั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยไม่ต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาด 

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ นอกจากผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในทฤษฎี แนวคิด และแนวปฏิบัติแล้ว ยังต้องมีทักษะที่จำเป็นเพื่อที่จะหาข้อยุติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันของคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการจัดอบรมฯ ในวันนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับความรู้และทักษะต่าง ๆ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนต่อไป

สธ. ผุดโครงการ นักไกล่เกลี่ย ลดฟ้องแพทย์ ประหยัดงบ 6 ล้าน/ปี
 ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นการฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของหน่วยบริการสุขภาพ จึงมีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสังกัดให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยของกระทรวงและได้รับการอนุมัติให้ใช้หลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

ตาม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 จากคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ โดยการอบรมจะเน้นเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจหลักทฤษฎี แนวคิด แนวปฏิบัติและทักษะที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้ให้บริการและในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยให้สามารถจัดการอารมณ์และความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพมีทัศนคติ บุคลิกภาพที่ดี

มีทักษะในการสื่อสารที่ดีต่อผู้รับบริการแม้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องจัดการกับบุคคลที่ยากกับการเจรจาเกิดความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นผู้ไกล่เกลี่ยของกระทรวงสาธารณสุขที่มีมาตรฐานเดียวกัน

สธ. ผุดโครงการ นักไกล่เกลี่ย ลดฟ้องแพทย์ ประหยัดงบ 6 ล้าน/ปี

ทั้งนี้ จะช่วยลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในชั้นก่อนการพิจารณาของศาลได้โดยสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาความขัดแย้ง เกิดความสมานฉันท์ในสังคม โดยมีผู้เข้ารับการอบรมจากส่วนกลาง เขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 6 จำนวน 60 คน  

ทั้งนี้ เมื่อผ่านการอบรมจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นนักไกล่เกลี่ยของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีสำนักมาตรฐานวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยดำเนินการขึ้นทะเบียนและจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยในระดับเขตและจังหวัดต่อไป