นักวิชาการ แนะ รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง ทบทวนเงินดิจิทัล-ลดประชานิยม-กู้เศรษฐกิจ

16 ส.ค. 2567 | 09:42 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2567 | 11:11 น.

“ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์” แนะรัฐบาลใหม่ ภายใต้ว่าที่นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” เร่งหาทางกู้เศรษฐกิจ ลดการออกนโยบายประชานิยม ทบทวนเงินดิจิทัลวอลเล็ต อาจได้ไม่คุ้มเสียมีความเสี่ยงสูง

แพทองธาร ชินวัตร” ก้าวขึ้นสู่การเป็นว่าที่ นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย ภายหลังสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 319 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง โดยภารกิจหลังจากนี้นับว่าท้าทายความสามารถ และยังมีการบ้านอีกหลายเรื่องที่ต้องขับเคลื่อน โดยเฉพาะการบริหารราชการแผ่นดิน

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การบ้านใหญ่ที่รอคอยการเข้ามาบริหารประเทศของ “แพทองธาร ชินวัตร” ว่าที่นายกรัฐมนตรี นั่นคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ โดยอย่าคิดเพียงแค่การออกนโยบายประชานิยมมากจนเกินไป แต่ต้องมองให้เห็นถึงความจำเป็นภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันด้วย  

“ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี รัฐบาลใหม่ต้องมองเรื่องนี้เป็นหลัก อย่างโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ณ ตอนนี้ยังไม่แน่ว่าจะเดินต่อไหม และถ้าเดินต่อก็อาจมีความเสี่ยง จึงอยากให้กลับมาทบทวนดูอีกรอบว่า โครงการนี้มีจำเป็นขนาดไหน หรือจะเลือกนโยบายอื่นมาแทน เพราะตอนนี้ยังมีเวลาคิดนโยบายที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่านี้ และต้องรีบตัดสินใจ” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

ศ.ดร.อรรถกฤต ย้ำว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ต้องกลับมาโฟกัสกับการแก้ปัญหาปากท้อง และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมากขึ้นกว่าเดิม เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ยังเดือดร้อนจากปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเรื่องที่อาจทำได้ก่อน คือ การหาทางสร้างงานลงไปยังเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยเริ่มต้นในพื้นที่เป้าหมายที่มีความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง 

ขณะเดียวกันเมื่อนโยบายเกี่ยวกับการจ้างงานลงไปยังจังหวัดต่าง ๆ ออกมาแล้ว สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป นั่นคือ การใช้กลไกของข้าราชการเข้าไปผลักดันโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ให้สำเร็จ โดยเน้นให้ข้าราชการเป็นตัวหลักในการผลักดันและขับเคลื่อนงบประมาณลงไปพัฒนาพื้นที่ ส่วนการเมืองอยากให้มีบทบาทเป็นแค่คนวางนโยบาย และทำหน้าที่ตามงานกับข้าราชการให้ทำงานได้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น โดยมีตัวชี้วัดและการประเมินผลที่ชัดเจน

ส่วนเรื่องที่ควรสานต่อจากรัฐบาลที่แล้ว มองว่า สิ่งสำคัญคือการร่วมทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ มากขึ้น และใช้การเจรจาหาทางออกให้ดีที่สุดอย่างเช่น กรณีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รัฐบาลต้องหาทางพูดคุยให้มากขึ้น พร้อมกับแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อจะได้รู้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจของธปท. ที่มีอยู่จำนวนมากให้เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศ ก่อนจะกำหนดนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนได้จริง

อีกอย่างที่ขอแนะนำนั่นคือ ทีมงานของนายกรัฐมนตรี ต้องเลือกคนที่ทำงานด้วยกันได้ อย่าเล่นการเมืองมากเกินไป และขอให้นายกฯ เลือกหาคนที่ทำงานอย่างจริงจัง เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักเข้ามาทำงาน เพราะตอนนี้อาจถือเป็นโอกาสสุดท้าย ที่จะต่อยอดการทำงานและสร้างผลงาน เพื่อโอกาสในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

“ตอนนี้เป็นโอกาสครั้งสำคัญของการทำงานบริหารราชการแผ่นดิน นายกฯต้องอย่าให้เสียเปล่า ที่สำคัญนายกฯ ยังเป็นคนรุ่นใหม่ มีโอกาสทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ หรือมีแนวทางการทำนโยบายที่น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาในช่วงการทำงานของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แม้จะทำงานมากว่า 1 ปี และเดินทางไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจกลับไม่ค่อยเดินไปข้างหน้ามากนัก ดังนั้นหากนายกฯใหม่ทำเรื่องนี้ได้ดี จะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย”