วันนี้ (19 สิงหาคม 2567) เวลา 9.30 น. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง จะแถลงรายงาน ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 โดยต้องจับตาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ล่าสุดของไทย จะขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหน ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทั้งนี้ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจ ได้มีการรายงานข้อมูลภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 รวมทั้งพิจารณาความเหมาะสมของข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวเลข GDP ให้กับเลขาธิการ สศช. รับทราบแล้ว ซึ่ง สศช. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการมาประกอบการจัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 และแนวโน้มทั้งปี 2567 ต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สศช. ได้เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 พบว่า GDP ขยายตัวเพียงแค่ 1.5% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 1.7% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2566 เป็นผลมาจากภาคการเกษตร ลดลง 3.5% และหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% ด้านการใช้จ่ายรัฐบาล ลดลง 2.1% และการลงทุนรวมลดลง 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ลดลง 27.7%
ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้า ลดลง 2% ลดลงเช่นกัน แม้ว่าการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวจากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.0 - 3.0% โดยมีค่ากลางการประมาณการ 2.5% โดยเป็นการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ใหม่ จากเดิมคาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.2-3.2% โดยประเมินว่า เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 2566
ทั้งนี้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 สศช. ประเมินว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก
โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.0 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.1 – 1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2%
อย่างไรก็ตามในด้านเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในปี 2567 ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามต่อจากนี้ โดยเฉพาะประเด็นด้านการเมืองภายในประเทศ หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการตั้งรัฐบาลใหม่ในช่วงรอยต่อของงบประมาณ ซึ่งล่าสุดแม้ว่าจะมีการแต่งตั้งน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่การขับเคลื่อนนโยบายยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ขณะเดียวกันยังต้องรอความชัดเจนในด้านนโยบายเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 ว่า รัฐบาลใหม่จะผลักดันมาตรการอะไรออกมาได้บ้าง โดยเฉพาะโครงการเติมเงิน 10000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเดินหน้าหรือทบทวนโครงการอย่างไร ซึ่งจะต้องรอความเห็นฟังของ สศช. ว่าจะประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างไรต่อไปด้วย