สศช.ชงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “รัฐบาลแพทองธาร” ประคอง GDP โต 2.5%

19 ส.ค. 2567 | 05:41 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2567 | 05:52 น.

สศช. เตรียมเสนอ “รัฐบาลแพทองธาร” เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังประคับประคอง GDP โตตามเป้าหมาย 2.5% พร้อมแนะนำรักษาบรรยากาศการเมืองให้ดี เร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

วันนี้ (19 สิงหาคม 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.เตรียมพิจารณาจัดทำ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เสนอรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” เพื่อพิจารณา โดยจากนี้จะนัดหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า มาตรการที่จะเสนอให้กับรัฐบาลใหม่นั้น จะมีมาตรการอะไร และช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทย 

 

สศช. แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 2 และทั้งปี 2567

 

“มาตรการที่จะออกมาคงต้องดูเครื่องไม้เครื่องมือว่าจะใช้มาตรการในลักษณะใด และต้องดูช่วงเวลา โดยอาจมีมาตรการออกมาในช่วงแรกแล้วประเมินสถานการณ์ รวมทั้งผลกระทบจากภายนอกก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ทรัพยากรมีจำกัด จึงต้องดูช่วงเวลา และปริมาณที่เหมาะสม และคงต้องคุยกระทรวงการคลัง ธปท. และคุยกับทางรัฐบาลด้วย” นายดนุชา ระบุ

แนะรักษาบรรยากาศการเมืองให้ดี

สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในช่วงจากนี้ เพื่อรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 2567 ให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 2.3-2.8% หรือขยายตัวได้ 2.5% สศช. มองว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ซึ่งสศช. มองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้น่าจะราบเรียบไม่ได้มีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น 

จึงน่าจะส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณ ปี 2568 ซึ่งอยู่ในั้นตอนของรัฐสภา หากผลักดันออกมาได้ตรงตามระยะเวลา จะเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนของรัฐในช่วงที่เหลือของปีเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนด้วย

"เป็นข้อเสนอของ สศช. เพราะที่ผ่านมาความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งสงครามการค้าที่น่าจะเกิดขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้นจนกระทบกับเศรษฐกิจไทย ที่จะได้รับผลกระทบจากสองเรื่องนี้แน่ ๆ ดังนั้นการจัดเตรียมงบประมาณในปี 2568 ว่ามีวงเงินเท่าไหร่ในการเตรียมการรองรับ โดยต้องหารือกับนายกฯ และครม.ด้วย ว่าเราจะเตรียมมาตรการอย่างไร" นายดนุชา กล่าว

รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยมุ่งเน้นการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนให้กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ไม่ให้เกิดความล่าช้า

ดันการลงทุนภาคเอกชนเพิ่ม

สศช. มองว่า จากนี้ไปยังต้องหาทางขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น โดยให้ความสำคัญเรื่องต่าง ๆ คือ

1. การเร่งสร้างความเชื่อมั่น ให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยอาศัยประโยชน์จากการย้ายฐานการลงทุนเพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจาก ต่างประเทศ และการเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565 - 2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการผลิตและภาคการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ 

รวมทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าประเภทอาหารมูลค่าสูง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจาก ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า 

2. การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุน ในประเทศไทย โดยเฉพาะการปรับลดอุปสรรคด้านขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม และภาคบริการเป้าหมาย 

3. การเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และ 

4. การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและ เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าไทยที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงขึ้นที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขัน ด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมและ สามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลกมากขึ้น

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

จัดงบปี 68 รับเศรษฐกิจโลกผันผวน

ขณะเดียวกันยังต้องเร่งหารือเพื่อเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก ทั้งความรุนแรงของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก ล่าสุดหน่วยงานต่าง ๆ ได้หารือกันเบื้องต้นแล้ว และเมื่องบประมาณปี 2568 ออกมาแล้ว จะต้องจัดวงเงินบางส่วนเพื่อนำมาใช้รองรับผลกระทบครั้งนี้ในช่วงถัดไปด้วย

ปกป้องการทุ่มตลาดกระทบการค้า

การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้

1. การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเข้าถึงการดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD/AC) 

2. การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น การเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมสินค้านำเข้า รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือในการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ และการเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 

3. การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษีหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ

ดูแลสภาพคล่อง SME แก้หนี้ครัวเรือน

การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่องให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้และลดการอาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบ ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEsรวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น 

ขณะเดียวกัน ควรดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังให้แก่ลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

รับมือลานีญา เอลนีโญ PM2.5

การเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปรากฎการณ์ลานีญาอันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี และปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากภัยแล้งในช่วงปีหน้า โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเตือนภัย 

เช่นเดียวกับการให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของความแปรปรวนด้านสภาพภูมิอากาศ และเข้าถึงหลักการใช้น้ำในการเพาะปลูกอย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอากาศ

รวมทั้งการเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) และการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม 

รวมไปถึงการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป