นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่
ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวอุษาศรี เขียวระยับ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ถึงศักยภาพของตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ในเวียดนามที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และโอกาสในการส่งออกและการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการไทย
โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในเวียดนาม มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนและขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น
บริษัท Tetra Pak ซึ่งเป็นบริษัทโซลูชั่นด้านกระบวนการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ได้ทุ่มเงินเพิ่มอีก 105.0 ล้านดอลลาร์ในโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ในจังหวัดบิ่นห์เยือง จากเดิมเมื่อปี 2564 ที่ได้ลงทุนไปแล้วกว่า 5.4 ล้านดอลลาร์
บริษัท VNDirect ได้ประกาศแผนการเข้าซื้อกิจการ Goldsun Food JSC ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร King BBQ และ ThaiExpress ในเวียดนาม
บริษัท Suntory PepsiCo Vietnam เริ่มก่อสร้างโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบ 20 เฮคเตอร์ในจังหวัดลองอาน มีการลงทุนมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะมีกําลังการผลิต 800 ล้านลิตรต่อปี
บริษัท Nestlé Vietnam ได้ประกาศการลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มกําลังการผลิตของโรงงานกาแฟ Tri An ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดด่งนาย
บริษัท Homefarm ระดมทุนได้ 1.8 ล้านดอลลาร์ จากบริษัท Mitsubishi Foods และบริษัท ThaiNamthip จำกัด ของไทย ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Coca-Cola Beverages Vietnam ร้อยละ 30 ด้วยมูลค่า 221.1 ล้านดอลลาร์
สำหรับสินค้ากลุ่มอาหาร บริษัท Euromonitor คาดว่ามูลค่าของตลาดอาหารและเครื่องดื่มของเวียดนามในปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 10.92% โดยนักลงทุนที่สนใจตลาดเวียดนามอย่างมาก คือ นักลงทุนจีน ขณะที่ บริษัท Mixue เป็นผู้นําในกลุ่มแบรนด์อาหารจีนที่กําลังเติบโตในเวียดนาม นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2561
บริษัท Mixue ได้ขยายเครือข่ายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟและชานมไข่มุกเป็น 1,000 แห่งทั่วเวียดนามภายในปี 2566 ในขณะเดียวกัน เครือกาแฟ Cotti Coffee ของจีนได้เข้าสู่เวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขยายธุรกิจไปทั่วโลก นับตั้งแต่ก่อตั้งในเดือน ธ.ค.2566 แบรนด์ Cotti Coffee ได้เปิดสาขาในต่างประเทศ 8 แห่ง เวียดนามทั้งในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์
นายภูสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเวียดนามอยู่ใน 10 อันดับแรกของตลาดที่น่าดึงดูดที่สุดในเอเชีย และรายได้จากการค้าปลีกรวมของผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคและบริการ มีอัตราการเติบโตที่มั่นคง และแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหา
แต่ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเวียดนามยังคงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเครือข่ายชั้นนำ แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่มีศักยภาพสูงและมีตำแหน่งที่แข็งแกร่งในตลาด เช่น แบรนด์ Trung Nguyen Legend แบรนด์ Highlands Coffee แบรนด์ Cong Coffee แบรนด์ Katinat Saigon Kafe แบรนด์ Cheese Coffee หรือแบรนด์ Phe La ต่างก็พยายามขยายสาขาไปทั่วประเทศ กระทั่งประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศในรูปแบบแฟรนไชส์ด้วย
สำหรับแนวโน้มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของเวียดนามในปี 2567 ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเน้นกลุ่มลูกค้า Gen Z เป็นอย่างมาก เนื่องจาก Gen Z ค่อย ๆ กลายเป็นกลุ่มลูกค้าที่ครองตลาด กลุ่ม Gen Z เป็นลูกค้าที่พร้อมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ Gen Z จึงยินดีจ่ายเงินเพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น มีการใช้ทำตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น
จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทย ที่จะศึกษาความต้องการของตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค และวางแผนในการผลิตและส่งออกสินค้าที่ตรงตามความต้องการ ก็จะเพิ่มโอกาสในการส่งออก หรือเพิ่มโอกาสในการเข้าไปลงทุนในเวียดนามได้เพิ่มขึ้น