เอกชนผวาบาทแข็งรอบ 13 เดือน ทุบส่งออกโค้งท้าย วูบ 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน

23 ส.ค. 2567 | 09:51 น.
อัพเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2567 | 08:56 น.

สรท.ผวาบาทแข็งค่าโค้งท้ายปี ทุบส่งออกไทยสูญ 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน วอนรัฐบาลใหม่ช่วยดูแลให้เสถียร เพื่อคงความสามารถในการแข่งขัน หลังคู่แข่งทั้งจีน เวียดนาม อินเดีย ค่าเงินไม่เปลี่ยนแปลงมากชิงได้เปรียบ ห่วงส่งออกไทยปี 67 อาจหดเหลือโตแค่ 1%

จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 13 เดือน ทั้งนี้นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยปรับตัวลดลงตามบอนด์ยีลด์ หลังมีการทบทวนตัวเลขจ้างงานของสหรัฐฯ แล้วออกมาแย่กว่าเดิม ประกอบกับมีรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ที่ส่งสัญญาณใกล้ถึงเวลาพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีแรงเทขายดอลลาร์ออกมาในตลาด

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากเงินบาทที่แข็งค่ามากที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเวลานี้ ถือเป็นการแข็งค่าเร็ว และแข็งค่ามาก โดยแข็งค่าขึ้นถึง 5.5% ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากสุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากค่าเงินริงกิตของมาเลเซียที่แข็งค่าขึ้น 6.8% ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา

ขณะที่ค่าเงินของประเทศคู่แข่งขันส่งออกสำคัญ เช่น ค่าเงินหยวนของจีน แข็งค่าขึ้นประมาณ 2% เงินดองเวียดนามแข็งค่าขึ้นประมาณ 1.6% ส่วนอินเดียรักษาค่าเงินรูปีไว้ค่อนข้างเสถียร แสดงให้เห็นถึงรัฐบาลมีมาตรการที่สามารถรักษาค่าเงินไว้ได้ค่อนข้างดี ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน

ชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งทางเรือแห่งประเทศไทย

"ในครึ่งปีแรกค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าและทรงตัวอยู่ที่เฉลี่ย 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยได้อานิสงส์ในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออก ทำให้สบายใจกันไปพักหนึ่ง แต่ตอนนี้ต้องเฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเงินบาทแข็งค่าเร็วผิดปกติ และแข็งค่ามากเกินไป ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ หรือในไตรมาสที่ 4  ที่เวลานี้ผู้ส่งออกส่วนใหญ่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองเรื่องราคาสินค้ากับคู่ค้าเพื่อส่งมอบในไตรมาสที่ 4"

นายชัยชาญ กล่าวยอมรับว่า จากปริมาณสินค้าที่มีจำนวนมากทั่วโลก ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ทำให้การเจรจาการค้ามีการต่อรองเรื่องราคาสูง ซึ่งจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากในช่วงนี้ ทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้น เสียเปรียบในการแข่งขัน อาจมีผลทำให้การส่งออกของไทยในปลายปีนี้ได้รับผลกระทบและมีแนวโน้มขยายตัวลดลง จากเดิมที่ สรท.คาดการณ์ไว้มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2567 ในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวได้ 1-2% อาจจะขยายตัวได้เพียง 1%

“เพื่อความปลอดภัยเวลานี้ ผู้ส่งออกส่วนใหญ่โค้ดราคาขายสินค้าที่อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้อัตราการทำกำไรลดลง จากก่อนหน้าปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกที่ทำให้เราได้เปรียบและแข่งขันได้ดีมีอย่างเดียวคือค่าเงินบาท ที่อยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ แต่ตอนนี้ปัจจัยบวกจากค่าเงินหมดไปแล้ว ซึ่งอยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งหรืออ่อนค่าเร็วมากเกินไป”

ทั้งนี้สินค้าของไทยที่จะได้รับผลกระทบมาก จากการแข็งค่าเงินบาท อยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล เป็นต้น แต่อีกด้านหนึ่งภาคการนำเข้าจะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทแข็งค่า เช่น น้ำมัน พลังงาน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปต่าง ๆ จากการนำเข้าสินค้าในราคาที่ต่ำลงตามค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น

ในส่วนผู้ส่งออกที่เกรงจะได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า คงต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน(ฟอร์เวิร์ด) เพราะทุก ๆ 1 บาทที่แข็งค่าขึ้นต่อดอลลาร์สหรัฐ มีผลทำให้รายได้จากการส่งออกของไทยหายไปไปมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน (ไทยส่งออกสินค้าเฉลี่ย 2.3-2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน)