สำหรับจังหวัดของเวียดนามที่มี FDI มากสุดคือ Hanoi (ภาคเหนือ) Quang Ninh (ภาคเหนือ) Thai Nguyen (ภาคเหนือ) Ba Ria – Vung Tau (ภาคใต้) Bac Ninh (ภาคเหนือ) Dong Nai (ภาคใต้) Bac Giang (ภาคเหนือ) Ho Chi Minh City (ภาคใต้) และ Hai Phong (ภาคเหนือ)
ราคาพลังงานเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูด FDI เข้าประเทศได้มาก (FDI เข้ามาต่อเนื่อง หลังมีนโยบาย Doi Moi ในปี 1986) ผลการสำรวจของ IISD (The International Institute for Sustainable Development, “Energy Pricing, Energy Supply and FDI Competitiveness in Viet Nam:An Assessment of Foreign Investor Sentiment”, 2015) พบว่าหากราคาพลังงานในเวียดนามปรับสูงขึ้นจะมีผลต่อการตัดสินใจในทางลบต่อลงทุนต่างชาติ
ปัจจุบัน ค่าไฟในเวียดนาม “มีราคาถูกเป็นอันดับสองของอาเซียน” รองจากค่าไฟในลาวและเมียนมา ปี 2558 คนเวียดนามจ่ายค่าไฟเฉลี่ย 1,622 ดอง/kwh หรือ 2.33 บาท/หน่วย
แต่ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป คนเวียดนามจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 2,006.79 ดอง/หน่วย หรือ 2.87 บาท/หน่วย (ปี 2566 คนไทยจ่ายค่าไฟอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ภาคอุตสาหกรรมจ่าย 5.33 บาทต่อหน่วย และปี 2567 คนไทยและภาคอุตสาหกรรมจ่าย 4.18 บาท/หน่วย) ขณะเดียวกันประเทศที่มีค่าไฟสูงสุดในอาเซียนคือฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 0.172 USD/kwh หรือ 6.2 บาท/หน่วย
อัตราค่าไฟฟ้าในเวียดนามจ่ายไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วน แยกเป็นประชาชน อุตสาหกรรม ธุรกิจทั่วไป โรงพยาบาล โรงเรียน และหน่วยงานรัฐในต่างจังหวัด ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมและนอกเขตอุตสาหกรรมตจ่ายค่าไฟตาม 3 ช่วงเวลาคือ ชั่วโมงค่าไฟปกติ (Normal Hours) ชั่วโมงค่าไฟสูง (Peak Hours) ชั่วโมงค่าไฟต่ำ (Off Peak Hours) พบว่าราคาค่าไฟในเขตอุตสาหกรรมถูกกว่านอกเขตอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ “เป็นความตั้งใจของรัฐบาลเวียดนามที่ต้องการดึงดูด FDI จากต่างประเทศเข้ามาลงทุน” ค่าไฟจะถูกมากในช่วงเวลา Off Peak Hours และจะสูงมากในช่วงเวลา Peak Hours แต่ปกติแล้วโรงงานจะเลือกใช้ไฟฟ้าในช่วง Normal Hours เพราะจ่ายค่าไฟระหว่าง 2.24 ถึง 2.47 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ค่าไฟในการทำธุรกิจทั่วๆ ไป สูงกว่าภาคอุตสาหกรรม จ่ายอยู่ที่ 3.75-4.10 บาทต่อหน่วย (Normal Hours) สำหรับประชาชนทั่วไป จ่ายค่าไฟอยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย (2,649 ด่ง/หน่วย)
1.ต้นทุนค่าไฟเวียดนามมากจากหลากหลายแหล่ง มาจากการซื้อไฟจากโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก โรงงานไฟจากพลังงานทางเลือก ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจากเวียดนามและจีน และโรงไฟฟ้าที่ได้รับสัมปทาน ทำให้ราคาเฉลี่ยลดลง
2.รัฐบาลอุดหนุน ปี 2023 ต้นทุนค่าไฟอยู่ที่ 2,092.78 ดอง/หน่วย แต่ขายที่ 1,950 ดอง/หน่วย ทำให้รัฐบาลขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2022-23 อยู่ที่ 38 ล้านล้านดอง (54,285 ล้านบาท)
3.กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (the Ministry of Industry and Trade : MoIT) โดยการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity : EVN) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการกำหนดค่าไฟ ทำให้ค่าไฟในภาคอุตสาหกรรมถูก
4.กำหนดกำไรน้อย ในสูตรคำนวณค่าไฟกำหนดให้คิดกำไรน้อย โดยปกติในประเทศอื่น ๆ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 50% ที่เหลือเป็นค่าดำเนินการและกำไร แต่กรณีเวียดนาม กำหนดต้นทุนการผลิตที่ 80% ให้มีค่าดำเนินการและกำไรเพียง 20%
5.ต้นทุนพลังงานทางเลือกต่ำ ต้นทุนการทำพลังงานทางเลือกในเวียดนามต่ำสุดในอาเซียน ต้นทุนการทำโซลาร์เซลล์อยู่ที่ US$0.046 per kwh ในขณะที่ต้นทุนของประเทศอาเซียนอื่นอยู่ที่ US$0.05-0.075 per kwh (Climate Works Centre, BRIEFING PAPER 4 ENABLING INVESTMENT FOR VIETNAM’S ENERGY TRANSITION LANDSCAPE OF SUSTAINABLE FINANCE, 2022)
เมืองหลวงพลังงานโซลาณ์เซลล์เวียดนาม อยู่ที่จังหวัด Ninh Thuan (จังหวัดชายฝั่งทะเลทางภาคใต้) เพราะมีรังสีแสงอาทิตย์ที่ 1,780-2,015 kWh/m2/year (เฉลี่ย 5.5 kwh/m2/day ซึ่งใกล้เคียงกับไทย) ค่าไฟเวียดนามที่ถูก น่าจะสะท้อนค่าไฟไทยที่แพงได้บ้างนะครับ
บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ที่ปรึกษา บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์(ไออาร์ซี) จำกัด