โฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แพทองธาร 1 ใกล้จะได้เห็นหน้า-เห็นหลัง ผู้ที่จะเข้ามานั่งบนเก้าอี้เสนาบดีกระทรวงเกรดเอ ท่ามกลางฝุ่นตลบของพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังชิงไหวชิงพริบทางการเมือง
“ดร.สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ประเมินหน้าตาของ “ว่าที่ ครม.แพทองธาร1” และนโยบายเรือธงอย่าง โครงการแจกเงินสด-ดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึง “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่มี “ดีเอ็นเอชินวัตร”
“ดร.สมชัย” ให้ความเห็นสั้น-กระชับ-จับใจความ กับ ฐานเศรษฐกิจ ในช่วง “เข้าด้ายเข้าเข็ม” ของการ “ครม.แพทองธาร1” ที่โผครม.ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีหน้าเดิม-กระทรวงเดิม ว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี ถ้าครม.ใหม่มีหน้าตาคล้าย ๆ เดิม เป็นคนเดิม คือ เรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย หลายเรื่องก็คงเดินหน้าไป หลายเรื่องที่วางไว้แล้วก็จะผลักดันต่อไป เช่น งบลงทุน
ฝากคิดเรื่องโครงการใหม่ ๆ นโยบายใหม่ ๆ ที่ช่วยในเรื่องของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเพิ่ม Productivity ของคนไทย up-skill re-skill สำคัญมาก เพราะหัวใจอยู่ที่คุณภาพคน
ขณะที่นโยบายไทยแลนด์ซอฟต์พาวเวอร์ต้องขับเคลื่อนให้จริงจังเพื่อให้ตอบโจทย์ของประเทศในเรื่องที่ขาดจริง ๆ
ส่วนถ้าเป็นเรื่องของนโยบายโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต อยากให้ยกเลิก แต่ถ้าไม่ยกเลิกก็อยากให้แปลงโฉมเป็นอย่างอื่น
ยกเลิก หรือ ลดรูป ลดขนาดลงและแปลงโฉม ลดสเกลลง เพราะเศรษฐกิจไม่ต้องการกระตุ้นมากขนาดนั้น เอาเงินที่เหลือมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจะดีกว่า
“(แจกเป็นเงินสด) ดีกว่าเยอะ และถ้าจะให้ดีจริง ๆ เชียร์คนละครึ่งมากกว่า เพราะพิสูจน์แล้วว่า โครงการคนละครึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า ใช้เงินน้อยกว่า ไปถึงคนรากหญ้าได้ดีกว่า
ถ้าไม่อยากใช้คำว่าคนละครึ่ง เพราะเป็นแบรนด์ของรัฐบาลชุดที่แล้ว (รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็หาแบรนด์ใหม่มา ใช้โครงสร้างไอทีเดิมทำให้ออกได้เร็ว”นักวิชาการจากรั้วทีดีอาร์ไอเป็นเห็นด้วยกับการแจกเงินสุด แต่เชียร์โครงการคนละครึ่งมากกว่า
ถ้าเปลี่ยนเป็นโครงการ “คนละครึ่ง” ใช้งบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้านบาทเพียงพอ จากให้คนละ 10,000 บาท 50 ล้านคน 4.5 แสนล้านบาท เหลือคนละ 1,500-2,000 บาท แจกทุกคน สามารถนำเงินที่เหลืออีก 3 แสนล้านบาทไปใช้ในเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้
“ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีผู้พ่อ ยกให้ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 - คนที่ 4 ของเชื้อสายตระกูลชินวัตร เหมาะสมที่จะกุมบังเหียน “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” เพราะมี “ดีเอ็นเอชินวัตร” นั้น “นักวิชาการทีดีอาร์ไอ” มองว่า
ถ้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจริง ก็คงจะต้องการที่ปรึกษาเยอะ เพราะคุณอุ๊งอิ๊งค์ไม่ได้มีพื้นฐานในด้านนี้ และเข้าใจว่า ไม่ได้เรียนมาในด้านนี้ด้วย การแสดงความคิดเห็นทางด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาก็ยังไม่ถึงขนาดว่า มีความคมอะไร
เพราะฉะนั้นก็อาจจะต้องการที่ปรึกษา ซึ่งก็ต้องเลือกที่ปรึกษาให้ดี เพราะก็มีที่ปรึกษาซึ่งไม่ได้รู้เรื่องเศรษฐกิจยุคใหม่แล้ว ว่าบริหารจัดการกันอย่างไร ความคิดอาจจะเก่าไปนิดหนึ่ง ก็ฝากไว้ว่า ควรเอาที่ปรึกษาที่มีความรอบรู้ในเรื่องของวิธีบริหารเศรษฐกิจใหม่ ๆ
ส่วนข้อกังขาเรื่องความรู้-ประสบการณ์ด้านศรษฐกิจ “ชั่วโมงบิน” ยังน้อย จะมารับ “บทหนัก” สวมหมวกเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” จะรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นโจทย์มหาโหดนี้ได้หรือไม่นั้น “ดร.สมชัย” เชื่อว่า รับได้ แต่ต้องมี “ทีมที่ปรึกษาชั้นดี”
ปรึกษาที่ปรึกษาบ่อย ๆ ข้อดี คือ มีนายกรัฐมนตรีมานั่งหัวโต๊ะสั่งการเอง เกิดความกระฉับกระเฉง แต่สิ่งที่สั่งควรต้องผ่านการปรึกษามาแล้ว
“ทีมที่ปรึกษาชั้นดี” ต้องเป็นคนที่รู้เรื่องการบริหารเศรษฐกิจยุคใหม่จริง ๆ และต้องมีพื้นที่รู้ด้านเศรษฐกิจ มีผสมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงมีความรู้ในเชิงธุรกิจด้วยก็จะช่วยได้
“แต่ต้องไม่ใช่ธุรกิจเพียงอย่างเดียว เพราะพอเป็นธุรกิจอย่างเดียว มันก็จะมีภาพที่คนกลัวว่า กลุ่มทุนใหญ่จะเข้ามา manage ไหม เหมือนสมัยคุณเศรษฐาเข้ารับตำแหน่งไม่นานก็มีนักธุรกิจใหญ่เข้ามาอวยพร ภาพอย่างนั้นต้องระวัง อย่าให้เกิดขึ้นอีก”ดร.สมชัยทิ้งท้ายชวนคิด