ฝ่ามรสุม 15 บิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้าน ชงครม.ชุดใหม่

23 ส.ค. 2567 | 00:00 น.

ผ่ามรสุม 15 บิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้าน สู่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ ลุ้นนายกอุ๊งอิ๊ง ตั้งทีมใหม่ดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อ ห่วงครม.รักษาการหมดสิทธิ์เคาะโปรเจ็กต์ลงทุนคมนาคม ลุ้นครม.ชุดใหม่ไฟเขียวปีนี้

KEY

POINTS

  • ผ่ามรสุม 15 บิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้าน สู่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่  
  • ลุ้นนายกอุ๊งอิ๊ง ตั้งทีมใหม่ดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อ 
  • ห่วงครม.รักษาการหมดสิทธิ์เคาะโปรเจ็กต์ลงทุนคมนาคม ลุ้นครม.ชุดใหม่ไฟเขียวปีนี้
     

จากสถานการณ์ทาง การเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมากลายเป็นกระแสร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคดีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญถือ มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น

จากสถานการณ์ข้างต้นส่งผลให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถูกว่างในทันที หากปล่อยให้เคว้งเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจในประเทศและประชาชน ตลอดจนการบริหารบ้านเมือง

ทำให้นักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายท่าน ต่างจับตามองว่าการพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ในครั้งนี้ จำเป็นต้อง มีการโหวตชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

 ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 15 พบว่าผลโหวตมีมติเห็นชอบ 319 เสียงต่อ 145 เสียงที่ไม่เห็นด้วย ส่งผลให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 หรือคนปัจจุบันทันที

ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วนั้น แต่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รอจ่อคิวเข้าครม.เห็นชอบภายในปีนี้กลับต้องสะดุดไม่เป็นท่า โดยเฉพาะโครงการสำคัญในกระทรวงคมนาคมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินหน้าต่อ เนื่องจากปัจจุบันการปรับครม.ชุดใหม่ในยุคน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือนายกอุ๊งอิ๊งนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด

ทำให้ขณะนี้จำเป็นต้องดำเนินการ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีไปก่อน

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ครม.รักษาการไม่มีอำนาจในการอนุมัติโครงการลงทุนฯ ที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้ว ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะต้องรอครม.ชุดใหม่เท่านั้น จึงจะสามารถผลักดันโครงการฯเหล่านี้ต่อไปได้

หากสแกนรายโครงการของแต่ละหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม พบว่า มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เร่งรัดต้องนำเสนอต่อครม.พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ จำนวน 15 โครงการ วงเงินรวมกว่า 838,286 ล้านบาท หากล่าช้าจะส่งผลให้โครงการต่างๆไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ โดยทุกโครงการล้วนเป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนที่พลาดโอกาสการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะทั้งสิ้น

ฟากกรมทางหลวง (ทล.) หน่วยงาน ที่รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุดอันดับ 1 ของกระทรวงคมนาคมนั้น มีแผนผลักดันโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่จะดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 119,053 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สาย ทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว วงเงิน 15,724 ล้านบาท โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนงานและบำรุงรักษา (O&M)

2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน หรือ ส่วนต่อขยายดอนเมือง โทรล์ลเวย์ วงเงิน 31,358 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์

3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 56,035 ล้านบาท 

และ 4.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน วงเงิน 15,936 ล้านบาท ปัจจุบันแต่ละโครงการได้ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักงานเลขานายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมบรรจุวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้นจะเดินหน้าเปิดประมูลต่อไป

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปัจจุบันมีโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการรฟท.แล้ว โดยเตรียมเสนอครม.เห็นชอบภายในปีนี้ เช่นเดียวกัน จำนวน 10 โครงการ วงเงินรวม 705,633 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงปากนํ้าโพ-เด่นชัย วงเงิน 81,143 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 44,103 ล้านบาท

3.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 7,900 ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 30,422 ล้านบาท 5.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา วงเงิน 66,270 ล้านบาท

6.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 68,222 ล้านบาท 7.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,473 ล้านบาท 8.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 15,176 ล้านบาท

 9.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) วงเงิน 44,573 ล้านบาท และ 10.โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงิน 341,351 ล้านบาท

ฝ่ามรสุม 15 บิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้าน ชงครม.ชุดใหม่

 ปิดท้ายที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ถึงแม้ว่าชาวบ้านยังมี การคัดค้านการก่อสร้างพื้นที่ทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N1 แต่ปัจจุบันกทพ.ได้ข้อสรุปแนวเส้นทางแล้ว โดยมีแผนจะก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาชาวบ้าน ได้รับผลกระทบในพื้นที่

ล่าสุด กทพ.ได้ส่งโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 สายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก วงเงิน 13,600 ล้านบาท เข้าครม.พิจารณาเห็นชอบไปก่อน หากโครงการล่าช้าจะส่งผลให้ภายในพื้นที่เกิดปัญหาจราจรติดขัดสะสมเป็นเวลานานยากที่จะแก้ไขได้
 
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วหวังว่าครม.ชุดใหม่ภายใต้การบริหารของนายกอุ๊งอิ๊งจะสามารถผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว หากทำได้ตามแผนที่วางไว้คงไม่ไกลเกินเอื้อมกับผลงานชิ้นโบว์แดงถือเป็นการพิสูจน์ฝีมือนายกหญิงอายุน้อยที่สุดของไทย

วิเคราะห์หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,021 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567