บิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้านชะงัก ติดหล่มสุญญากาศการเมือง

15 ส.ค. 2567 | 23:07 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2567 | 23:21 น.

บิ๊กโปรเจ็กต์ แสนล้านกระทบกราวรูด เช่นพิษ “รัฐบาลเศรษฐา” พ้นสภาพ หนักสุดดิจิทัลวอลเล็ต ส่อแท้ง เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์  แลนด์บริดจ์-กัญชา ลูกผีลูกคน ด้านรฟท.ห่วงต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทางจ่อชะงักหลังเตรียมแผนชงครม.ไฟเขียวภายในปีนี้

การพ้นสภาพของ “รัฐบาลเศรษฐา” นอกจากสร้างแรงกระเพื่อมให้กับความเชื่อมั่น นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อโครงการสำคัญตามนโยบายที่ได้วางกรอบไว้ รอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสานต่อและมีความเป็นไปได้ว่าบางโครงการอาจไม่ได้ไปต่อ

 

 

 ที่เป็นไฮไลต์พูดถึงกันมากคือโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทวงเงิน 5 แสนล้านบาท สร้างพายุหมุน 4 ลูก ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า เงินอาจไม่ตกถึงมือประชาชนภายในปลายปีนี้ และต้องเลื่อนออกไป

เพื่อรอรัฐบาลใหม่อนุมัติ ซึ่งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมายอมรับว่า โครงการดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบ และต้องรอครม.ชุดใหม่อนุมัติว่าจะเดินต่อหรือไม่

เช่นเดียวกับ โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มูลค่ากว่า1แสนล้านบาท จิ๊กซอว์ตัวสำคัญ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่นายเศรษฐาเคยหวังที่จะดึงเม็ดเงินเข้าพื้นที่

โดยมีกาสิโน สร้างรายได้ ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนข้ามชาติให้ความสนใจ แต่ถึงนาทีนี้ต้องรอดูท่าทีรัฐบาลชุดใหม่ว่าในที่สุดแล้วจะไปต่อหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย

 รวมถึงการย้ายท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตย ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามนโยบายของนายเศรษฐา เพื่อพัฒนาเป็นเมืองมิกซ์ยูส มูลค่า 1 แสนล้านบาท ต้องฝ่าด่านประชาชนบางกลุ่มแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

“แลนด์บริดจ์” โครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ 1ล้านล้านบาท อีกหนึ่งโครงการที่นายเศรษฐาและกระทรวงคมนาคมปลุกปั้นเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลโรดโชว์ ดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนและหลายรายให้ความสนใจ

ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เปิดรับความคิดเห็นภาคเอกชนประกอบกับเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เหมือนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือEEC

โครงการชะงัก

เพื่อขับเคลื่อนแลนด์บริดจ์ โดยมีการกำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ทั้งนี้ตามแผนจะเสนอต่อครม. พิจารณาภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายต่อไป คาดว่าร่าง พ.ร.บ. SEC จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ภายในปี 2568 เพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป

พื้นที่ EEC ก็เช่นกัน ที่รัฐบาลเศรษฐาสานต่อรัฐบาลประยุทธ์ มุ่งใช้เป็นแม่เหล็กดึงทัพนักลงทุนเข้าพื้นที่ และเร่งลงมือก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่

โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน ที่ต้องรออนุมัติ แก้ไขสัญญาให้กับเอกชน ที่มีตัวแปรมาจากสถานการณ์โควิด ซึ่งต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ไฟเขียวรวมถึง สิทธิประโยชน์ในอีอีซี ยกเว้นภาษี15 ปี ช่วยดึงดูดนักลงทุน

โครงการระบบรางรวมถึง โครงข่ายถนน หลายโครงการอีกหลายแสนล้านบาทที่ต้องรอเข้าครม.ภายในปีนี้และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะสานต่อและเร่งดำเนินการ

อย่างโครงการเร่งด่วนของการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ที่จะได้รับผลกระทบต่อการลงทุนหลังเกิดการเปลี่ยนแปลง นายกรัฐมนตรีและครม. ได้แก่

1.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,473.98 ล้านบาท

2.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20.5 กม. วงเงิน 15,176 ล้านบาท

และ 3.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,573 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามตามกระบวนแล้วโครงการลงทุนส่วนใหญ่มักจะต้องผ่านความเห็นชอบจากอำนาจคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ก่อน แต่จะมีโครงการที่ได้รับผลกระทบจากการขอรับจัดสรรงบประมาณผูกพันคือ โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ซึ่งจะต้องรอดูว่ารัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในช่วงรักษาการจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

อีกโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคมที่ได้รับผลกระทบ กลายเป็นสุญญากาศ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความจำเป็นต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเห็นชอบ

เช่นร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ... ซึ่งเป็นกฎหมายสอดรับกับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ตั้งเป้าหมายมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2568

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สิ้นสุดสัญญาภายในปี 2572 และการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่-คูต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ วงเงินรวม 87,147 ล้านบาท

ปัจจุบันกทม.มีแผนเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่ง ม.44 ของคสช.นำระบบรถไฟฟ้ากลับสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและร่วมทุนตามกฎหมาย PPP เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนต่อไป

โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงิน 341,351 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,900 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168.2 กม. วงเงิน 30,422 ล้านบาท 14.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงสุราษฎร์ธานี – สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 66,270 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 68,222 ล้านบาท

โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 สายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทางรวม 6.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 13,600 ล้านบาท

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์) ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กม. วงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา 15,936 ล้านบ

ขณะโครงการที่ได้รับผลกระทบ หลังการปรับครม.เศรษฐา 2 กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การคุมทัพของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับไม้ต่อจากนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว

หลังรับนโยบายของนายเศรษฐา ให้มาขับเคลื่อนเร่งรัดดึง “กัญชา” กลับไปเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ก่อนกลับลำภายหลังให้ใช้กฎหมายควบคุมแทนด้วยการออกเป็น พ.ร.บ.กัญชา

เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จนถึงขณะนี้เรื่องยังคาอยู่ทั้งในส่วนของ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกำหนดชื่อยาเสพติดให้โทษที่ส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ประชุมและให้ความคิดเห็น รวมถึง พ.ร.บ.ที่อยู่ในสภาและคณะกรรมการกฤษฎีกา รวม 4 ฉบับ

 อีกเรื่อง คือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่ นโยบายเรือธงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ยังคงประสบปัญหาในการบริการจัดการอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ กทม. ซึ่งได้ประกาศเตรียมคิกออฟ “30 บาทรักษาทุกที่ กทม.” เป็นจังหวัดที่ 46 อย่างเป็นทางการ

มีนายเศรษฐา ทวีสิน และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 26 สิงหาคม นี้

 เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนเรื่องของการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรสาธารณสุข โดยในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศนั้น นายสมศักดิ์ ให้ความสำคัญอย่างมากในการยกระดับการทำงานของ อสม.ให้มีส่วนร่วมในการลดปัญหายาเสพติดและยกสถานะขึ้นเป็น ผู้ช่วยพยาบาล

เพื่อดูแลคนในพื้นที่ตัวเองในระดับปฐมภูมิ โดยได้เร่งรัดผลักดันร่าง พ.ร.บ.อสม. ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว รวมถึงการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

ที่ได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. หรือ ร่างกฎหมายแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถแก้ปัญหาสะสมต่าง ๆ เองได้ ทั้งเรื่องของอัตรากำลัง ภาระงาน ความก้าวหน้า และปัญหาสมองไหล เป็นต้น

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ในช่วงเวลา 100 วันเป็นอย่างไรบ้างนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ดูภาคทฤษฎีจบพอดีแต่ยังไม่ได้ปฏิบัติโดยเวลาเราจะทำอะไรต้องเข้าใจทฤษฎีก่อนซึ่งก็ดูจบแล้วแต่ยังไม่ได้ทำแบบฝึกหัดจึงยังไม่มผลงานอะไร แต่ถ้าอยู่ต่อไปก็ดีจะได้มีผลงาน

 ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือโครงการ 8วิสัยทัศน์ อิกไนต์ ไทยแลนด์ จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เทคโนโลยี และการเงิน

โดยเฉพาะซอฟต์พาวเวอร์ ในทั่วทุกภุมิภาคเพื่อให้สินค้าและกิจกรรมของไทยอวดสู่สายตาชาวโลกและเป็นรายได้หมุนเวียนลงสู่ระบบฐานราก