ทุนจีนยึดไทย สายช้อปดี๊ด๊า-SME ม้วนเสื่อ โจทย์ใหญ่ต้องเร่งแก้

15 ส.ค. 2567 | 04:08 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2567 | 04:21 น.

ข้อเท็จจริงที่ปรากฎช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีโรงงานไทยปิดตัวไปแล้ว 667 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 86% มูลค่าของโรงงานที่ปิดตัว มีเงินลงทุนเฉลี่ย 27 ล้านบาทต่อโรง สะท้อนภาพส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยล้วน ๆ

ขณะช่วง 6 เดือนแรก มีโรงงานเปิดใหม่ 1,009 โรง เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ย 172 ล้านบาทต่อโรง จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโรงงานที่เปิดใหม่มีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ย77 ล้านบาทต่อโรง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของบีโอไอที่มีนักลงทุนต่างชาติ (FDI) มาขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่มีมูลค่าการลงทุนต่อโรงสูงขึ้น

ขณะเดียวกันมี TEMU แพลตฟอร์มน้องใหม่จากจีนที่เพิ่งเปิดตัวในไทย เป้าหมายเพื่อนำสินค้าจีนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จากโรงงานผู้ผลิตเป็นแสน ๆ โรงในจีน เข้ามาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม TEMU ในราคาต่ำสุด ๆ ชนิดที่หลายคนอดใจไม่ไหวต้องกดสั่งซื้อ ในมุมผู้บริโภคถือว่าได้ประโยชน์ แต่อีกด้านหนึ่งจะเป็นตัวเร่งให้โรงงานผู้ผลิตที่เป็นเอสเอ็มอีของไทยจะทยอยปิดตัวลงอีกเป็นจำนวนมาก เพราะแข่งขันสู้สินค้าจากจีนไม่ไหว

ล่าสุดนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร ออกมาเปิดเผย กรณีมีความพยายามจะดึงแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ TEMU เข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% อย่างถูกต้องตามกฎหมายไทยว่า ในเบื้องต้น TEMU ถือเป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ขายสินค้าจากต่างประเทศโดยตรง ไม่มีผู้ประกอบการคนไทยเข้าไปเป็นสื่อกลางการใช้บริการ หรือเปิดร้านซื้อขายบนแพลตฟอร์ม เพราะฉะนั้น ทาง TEMU จึงยังไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีในประเทศไทย และไม่สามารถบังคับให้มาจดทะเบียนเพื่อต้องเสียภาษี VAT ได้

ทุนจีนยึดไทย สายช้อปดี๊ด๊า-SME ม้วนเสื่อ โจทย์ใหญ่ต้องเร่งแก้

อย่างไรก็ดีในส่วนสินค้าที่สั่งนำเข้ามาจาก TEMU จะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่กำหนดของไทย โดยเริ่มเก็บตั้งแต่ราคาบาทแรก และไม่มีการยกเว้นภาษีสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า จากสินค้าจีนที่ผลิตเป็นแมส หรือผลิตคราวละมาก ๆ ทำให้มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ถูกส่งเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ รวมถึง ณ เวลานี้ โดยเข้ามาทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายผ่านการสำแดงเท็จ ทำให้ในปีที่ผ่านมา มีอุตสาหกรรมสมาชิกของ ส.อ.ท.ได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว 22 กลุ่ม และต้นปีนี้มาถึงเวลานี้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 23 กลุ่ม หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ทำอะไรเลย หรือทำไม่จริงจัง ถึงสิ้นปีนี้คาดจะได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจต้องทยอยปิดตัวกันมากขึ้น

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตของไทยในภาพรวม มีอัตราการใช้กำลังผลิตเฉลี่ยที่ 59-60% ส่งผลให้ภาคการลงทุนโดยเฉพาะของคนไทยยังไม่ขยายตัวเพิ่ม เพราะถูกกดทับจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากจีนที่มีการส่งเข้ามาทุกทิศทาง ทั้งนี้โดยทั่วไป นักลงทุนจะมีการวางแผนขยายการลงทุนเพิ่มเติม หรือการลงทุนใหม่ และขยายเครื่องจักร ส่วนใหญ่จะมีการใช้กำลังการผลิต 80% ขึ้นไป

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการจีนได้เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอของไทยโดยทุนจีนได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 และช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เป็นอันดับ 1 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ขณะที่จีนยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (กราฟิกประกอบ) ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการจ้างงานในประเทศไทย ขณะที่จีนต้องการพึ่งพาไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรปที่จีนถูกกีดกันผ่านสงครามการค้า รวมถึงเป็นตลาดส่งออกเพื่อระบายสินค้าจีนมายังไทยและอาเซียน

ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวของของไทยจะต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อรักษาสมดุลให้ดี ระหว่างให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากสินค้าจีนที่ส่งเข้ามาจำหน่าย กับการดูแลภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้อยู่รอดได้ และมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น