ดันกฎหมายตั๋วร่วม รับรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

30 ส.ค. 2567 | 00:00 น.

“สุริยะ” เดินหน้าชงครม.ชุดใหม่ ต่ออายุมาตรการค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง-สายสีม่วง ดันร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ส่งกฤษฎีกาตรวจสอบ ตั้งเป้าเข็นรถไฟฟ้าทุกสาย รับนโยบายสุงสุด 20 บาทตลอดสาย ภายในก.ย. 68

KEY

POINTS

  • “สุริยะ” เดินหน้าชงครม.ชุดใหม่ ต่ออายุมาตรการค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง-สายสีม่วง
  • ดันร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ส่งกฤษฎีกาตรวจสอบ
  • ตั้งเป้าเข็นรถไฟฟ้าทุกสาย รับนโยบายสุงสุด 20 บาทตลอดสาย ภายในก.ย. 68

จากการขับเคลื่อนมาตรการนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายของภาครัฐ หากจะผลักดันให้รถไฟฟ้าทุกสายสามารถใช้นโยบายดังกล่าวได้จำเป็นต้องดันกฎหมายร่างพ.ร.บ.ระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ถึงจะจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น

 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมยังคงเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อ

ขณะนี้ทราบว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... มีระยะเวลาดำเนินการล่าช้าประมาณ 1 เดือน เนื่องจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปก่อน อีกทั้งยังติดในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ ทำให้ยังไม่สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้

 “ในระหว่างนี้ผมได้ส่งร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ต่อสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจสอบอีกรอบก่อนเข้าสภาฯต่อไป หากร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว  จึงจะดำเนินการตั้งกองทุนชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนเพื่อมาใช้กับระบบตั๋วร่วม คาดว่ารถไฟฟ้าสายอื่นๆจะสามารถใช้นโยบายนี้ได้ภายในเดือนกันยายน 2568” นายสุริยะ กล่าว  
 

  นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่มติครม.อนุมัติให้รถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วงสามารถดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 นั้น

ตามระเบียบกระทรวงคมนาคมสามารถเสนอครม.ชุดใหม่ เห็นชอบต่ออายุมาตรการตามนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ได้อัตโนมัติ เนื่องจากรัฐเป็นเจ้าของโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการ

 รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า สำหรับปริมาณผู้โดยสารของโครงการรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก่อนใช้นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2565-30 มิถุนายน 2566 มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้ง 2 สาย อยู่ที่ 18,820,840 คน-เที่ยว แบ่งเป็น

ปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟสายสีแดง อยู่ที่  4,787,357 คน-เที่ยว และปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง อยู่ที่  14,033,483 คน-เที่ยว

 ทั้งนี้เมื่อมีนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2566-30 มิถุนายน 2567 พบว่าปริมาณผู้โดยสารโครงการรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้ง 2 สาย อยู่ที่ 23,773,930 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟสายสีแดง อยู่ที่ 7,236,120 คน-เที่ยว
 
ส่วนปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง อยู่ที่ 16,537,810 คน-เที่ยว ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 68.54% แบ่งเป็น ปริมาณผู้โดยสารรถไฟสายสีแดง เพิ่มขึ้น 51.15% ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพิ่มขึ้น 17.39%
 

ด้านรายได้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง แบ่งเป็น ก่อนเกิดนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย พบว่า รถไฟสายสีแดงมีรายได้ค่าโดยสารอยู่ที่ 144.23 ล้านบาท เมื่อดำเนินมาตรการแล้ว ทำให้รายได้ค่าโดยสารรถไฟสายสีแดงลดลงอยู่ที่ 141.44 ล้านบาท หรือรายได้หายไป  2.79 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีรายได้ค่าโดยสารอยู่ที่ 326.99 ล้านบาท เมื่อดำเนินมาตรการแล้วรายได้ลดลงอยู่ที่ 239.87 ล้านบาท หรือรายได้หายไป  87.12 ล้านบาท

 จากนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยรัฐจะชดเชยรายได้ให้รถไฟสายสีแดง ต่อเมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% (ปัจจุบันเพิ่ม 17.39%) ถึงจะมีรายได้เท่ากับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตามอัตราปัจจุบัน ทั้งนี้ตามกระบวนการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาเพื่อขอรับการชดเชยส่วนต่างรายได้ตามจริงต่อไป
 
ขณะที่การชดเชยรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง จากนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น จากการคาดการณ์หากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 17% (ปัจจุบันเพิ่ม 17.39%) ทำให้ต้องชดเชยรายได้ที่หายไปเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี

ดันกฎหมายตั๋วร่วม รับรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

 อย่างไรก็ตามหากมีปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจทำให้การชดเชยรายได้ใช้เวลาน้อยลง สำหรับค่าชดเชยส่วนต่างที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะนำมาชดเชยกับรายได้ที่หายไปจากการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น จะนำมาจากเงินส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

หน้า 8 ฉบับที่ 4,023 วันที่ 1 - 4 กันยายน พ.ศ. 2567