รายงานล่าสุดของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน หรือเฉลี่ย 10 เดือน พบสินค้าไม่ได้มาตรฐานนำเข้าจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 344 ล้านบาท มากกว่าทั้งปี 2566 ที่มีมูลค่ารวม 203 ล้านบาท
ล่าสุด Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชเจ้าใหม่ของจีนที่เข้ามาเปิดตัวกับกลุ่มลูกค้าชาวไทยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเป็นชาติที่ 3 ในอาเซียน ต่อจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ กำลังจะเป็นอีกประเด็นปัญหาสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) จากกลยุทธ์ด้านราคาที่ถูกนำมาใช้
“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ในฐานะหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีภารกิจในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ที่ได้เร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายภาสกร ระบุว่า DIPROM ได้ดำเนินการเร่งขับเคลื่อนการเสริมศักยภาพและพัฒนาชุมชน วิสาหกิจชุมชน โดยร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพในด้านโลจิสติกส์ และการจัดจำหน่ายได้มากขึ้น ในรูปแบบ DIPROM X THAILANDPOST Member Card เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสทางการตลาดในการยกระดับขีดความสามารถวิสาหกิจไทยให้มีความยั่งยืน ผ่านการเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต มาตรฐาน และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยสอดรับกับเทรนด์โลก
รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดเก็บสินค้า และระบบคลังสินค้า โดยผู้ประกอบการและสินค้าไทยจำเป็นจะต้องปรับตัว และตั้งรับกับสถานการณ์ดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลจะต้องเร่งยกระดับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และมุ่งเน้นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมลํ้า และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้
ปัจจุบันกระแสการทุ่มตลาดของต่างประเทศผ่านการขายสินค้าหลากหลายชนิดในแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เน้นขายสินค้าในราคาที่ถูกมาก อีกทั้งกระแสตลาดออนไลน์ของธุรกิจใหม่ ๆ กำลังมาแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ในขณะที่คนไทยส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เนื่องจากต้องการสินค้าราคาถูกจากรายได้ที่ลดลง และมีบางคนที่เป็นผู้ค้าในแพลตฟอร์มของต่างประทศด้วย
“การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ภายใต้แนวคิดชุมชนเปลี่ยน ผ่านการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) โดยดีพร้อมและไปรษณีย์ไทยสามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการจ้างงาน ร้านอาหาร ของที่ระลึก วัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์ในชุมชน”
อย่างไรก็ดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ DIPROM และไปรษณีย์ไทยได้สนับสนุนส่วนลดค่าส่งสินค้าให้สูงสุด 55% ในการขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้รับปลายทางอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกในการจัดการด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้าช่วยเก็บ แพ็ค ส่ง รองรับการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce ในส่วนของลูกค้ากลุ่มธุรกิจ B2B และ B2C ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ความร่วมมือที่เกิดขึ้นดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และส่งเสริมการเติบโตของผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างโอกาสทางการตลาดผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้กว่า 200 ล้านบาท”
นายภาสกร กล่าวอีกว่า ช่องทางของไปรษณีย์ไทยมีทั้งรูปแบบของออนไลน์ บนเว็บไซต์ ThailandpostMart ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม e-Marketplace และออฟไลน์ผ่านร้านค้า ThailandPostMart 17 สาขาในพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ไปรษณีย์กลาง เคาน์เตอร์ไปรษณีย์สาขา MBK ไปรษณีย์จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น หนองคาย เชียงใหม่ พิษณุโลก ราชบุรี กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี และไปรษณีย์จอมสุรางค์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ถึงกว่า 200 ล้านบาท นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังมีแผนในการให้บริการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon เพื่อขยายโอกาส ขยายช่องทางให้กับผู้ประกอบไทย ได้ส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศได้
ในลำดับต่อไป DIPROM จะดำเนินการร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อเป็นการต่อยอดส่งต่อสินค้า และผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาคนไทยไปยังแพลตฟอร์มของกลุ่มเซ็นทรัลในสินค้า GOOD GOODS โดยจะเป็นการเพิ่มคุณค่างานหัตถกรรม ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลจะช่วยในการพัฒนารูปแบบ สร้างสรรค์งานดีไซน์ให้ดูร่วมสมัย ให้เป็นที่ต้องการของคนไทย และนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในแต่ละชุมชนต่อไป
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบของฐานเศรษฐกิจพบว่า การทะลักเข้ามาของสินค้าจากจีน ตั้งแต่สินค้าชิ้นใหญ่ในระดับอุตสาหกรรม เช่นรถยนต์ จนถึงสินค้าชิ้นเล็กอย่าง เสื้อผ้า เครื่องประดับ โดยปี 2566 ที่ผ่านมาไทยขาดดุลการค้าจีน มูลค่า 36,636 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.29 ล้านล้านบาท