KEY
POINTS
การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS มุ่งขยับการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นมากขึ้น นอกจากสัมปทานรถไฟฟ้า
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับการเข้าร่วมประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐนั้น ทางบริษัทมีความสนใจและติดตามการเปิดประมูลหลายโครงการ หากโครงการนั้นสามารถลงทุนได้เราก็พร้อมเข้าร่วมประมูล
หากในอนาคตมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ บริษัทมีความพร้อมเข้าร่วมประมูล โดยเป็นโครงการที่เปิดประมูลในรูปแบบระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งจะต้องรอดูรายละเอียดจากเอกสารการประกาศประกวดราคา (ทีโออาร์) ก่อนว่าเป็นอย่างไร
“ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทที่มองว่าเป็นความท้าทาย คือ โครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอภาครัฐออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) เพราะขณะนี้เราเตรียมความพร้อมในการออกแบบและก่อสร้างแล้วเสร็จเพื่อดำเนินการเข้าพื้นที่แล้ว ขณะที่โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการวิ่งฟรีบางส่วน ตามข้อกำหนดในช่วงแรกกรมทางหลวง (ทล.) จะเปิดทดลองให้บริการก่อน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ตลอดเส้นทางภายในต้นปี 2568” นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับโครงการภาครัฐที่จะเปิดประมูลในรูปแบบ PPP ภายในปี 2567-2568 ดังนี้
1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน หรือส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท
2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท
3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กม. วงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา 15,936 ล้านบาท
4.โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางประมาณ 3.98 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 16,492 ล้านบาท
5.โครงการทางพิเศษขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 สายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทางรวม 6.7 กม. วงเงิน 13,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ BTS ประกอบธุรกิจหลายประเภท ซึ่งมีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนภายในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งมวลชน ดังนี้ ธุรกิจ MOVE หรือธุรกิจระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ให้บริการในเส้นทางต่างๆ
BTSC มีโครงข่ายรถไฟฟ้าในปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นครอบคลุมระยะทางรวม 138.0 กม. ประกอบด้วย
1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 1 ในโครงการระบบขนส่งสาธารณะที่มีบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทาง รวมทั้งสิ้น 23 สถานี แบ่งเป็น สายสุขุมวิท ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กม. และสายสีลม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กม. ซึ่งตามสัญญาจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานวันที่ 4 ธันวาคม 2572
ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 1 สายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กม.และสายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.45 กม.มีกทม.ว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้บริหารระบบ โดยจ้างบีทีเอสเป็นผู้เดินรถ สัญญา 30 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 2 พฤษภาคม 2585
ฟากส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม.และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กม. มีกทม.ว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้บริหารระบบ โดยจ้างบีทีเอสเป็นผู้เดินรถ สัญญา 26 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 2 พฤษภาคม 2585
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.50 กม. วงเงิน 51,381 ล้านบาท และ 3.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยมีบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM)
4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 51,810 ล้านบาท โดยมีบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ อันประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ทั้ง 2 โครงการ มีสัญญาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน แบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (39 เดือน) และดำเนินการงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง 30 ปี
5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี - คลองสาน ระยะทาง 1.8 กม. วงเงิน 3,000 ล้านบาท โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มอบให้ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) เป็นผู้ดำเนินการ โดยเคที จ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้เดินรถ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี
6.โครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร–ราชพฤกษ์ วงเงิน 465 ล้านบาท โดยกทม.ได้จ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้ให้บริการเดินรถ ระยะเวลาสัญญา 5 ปี
7.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 21,329 ล้านบาท และ 8.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่–กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กม.วงเงิน 17,809 ล้านบาท ของกรมทางหลวง (ทล.)
โดยมีบริษัท บีจีเอสอาร์ 6 จำกัด (BGSR6) และ บริษัท บีจีเอสอาร์ 81 จำกัด (BGSR81) เป็นบริษัทของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ซึ่งร่วมค้ากับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของสัมปทานงานระบบและซ่อมบำรุง (O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี
9.โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินรวม 2.4 แสนล้านบาท ของกองทัพเรือ โดยมีบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เป็นบริษัทของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งร่วมค้ากับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของสัมปทาน สัญญาสัมปทาน 50 ปี
10.โครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้าง (EV Bike) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 มีการจัดตั้งการร่วมค้าใหม่ ระหว่างบีทีเอส กรุ๊ป ถือหุ้น 66.7% และบริษัท วินโนหนี้ จำกัด (วินโนหนี้) ถือหุ้น 33.3% เพื่อจัดตั้งบริษัทสมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (สมาร์ทอีวี ไบค์)
ซึ่งการลงทุนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายบริการ Door-to-Door เชื่อมต่อรูปแบบการเดินทางของ BTS ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้แก่ผู้โดยสารบีทีเอส และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง อีกทั้งยังส่งเสริมการสัญจร ในเมืองอย่างยั่งยืนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ต่อปี
ด้านธุรกิจ MIX ที่ผสมผสานระหว่าง Offline-to-Online (O2O) โซลูชั่นส์ของวีจีไอ และ Data marketplace ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อโฆษณาและแพลตฟอร์มทางการตลาดที่มีการนำชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้เพื่อต่อยอดและปรับปรุงผลการดำเนินธุรกิจ
ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรสำหรับกลุ่มบริษัทและพันธมิตรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมี BTS ให้บริการสื่อโฆษณาผ่านบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสิทธิ์ในการบริหารโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและอาคารสำนักงาน
ธุรกิจบริการดิจิทัล อยู่ในการดำเนินงานภายใต้บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเต็ม จำกัด (BSS) และบริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด (BSSH) หรือเรียกรวมกันว่ากลุ่มแรบบิท ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ โซลูชันส์
ทั้งนี้ กลุ่มแรบบิท ประกอบด้วย 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจชำระเงิน มีทั้งการให้บริการชำระเงิน ออฟไลน์และออนไลน์ อาทิ การชำระเงินบนระบบขนส่งมวลชนและร้านค้าต่าง ๆ เรียกว่า บัตรแรบบิท
ส่วนธุรกิจบริการ ประกอบด้วย ผู้นำแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันภัยและผลิตภัณฑ์ทางการเงินของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ บริษัท แรบบิท แคร์ จำกัด (RCare)
และธุรกิจกู้ยืมเงินในลักษณะสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งดำเนินการภายใต้ Rabbit AEON Loan รวมถึงธุรกิจบริการสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ดำเนินการภายใต้ชื่อ บริษัท แรบบิท แคช จำกัด (RCash)
3.ธุรกิจการจัดจำหน่าย หรือธุรกิจการจัดจำหน่ายวีจีไอ ดำเนินงานผ่านการเข้าลงทุนใน TURTLE ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริหารจัดการร้านค้า มีศักยภาพในการปรับปรุงพื้นที่ ให้เช่าเชิงพาณิชย์บนเครือข่ายรถไฟฟ้าบีทีเอสให้มีรูปแบบทันสมัย
ขณะที่ Fanslink ผู้นำด้านการบริหารจัดการสินค้าจากแบรนด์ชั้นนำของจีนและให้บริการอีคอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ส่วน Demo Power บริษัทให้บริการทดลองและสาธิตสินค้าที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย และ JMART บริษัทโฮลดิ้งในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งมือถือ
การจัดเก็บและจัดการหนี้ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และการลงทุนในธุรกิจใหม่ ที่มีศักยภาพ
สุดท้ายธุรกิจ MATCH มุ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการผนึกกำลังร่วมกันกับบริษัทในกลุ่ม
จากการเข้าถึงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์ม MOVE และ MIX ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท โดยธุรกิจ MATCH สามารถใช้ประโยชน์นี้ได้ภายใต้แนวคิด Sharing Economy ซึ่งพันธมิตรสามารถร่วมมือและแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกันได้
สิทธิประโยชน์เฉพาะนี้ รวมถึงการที่คู่ค้าทางธุรกิจสามารถเข้าถึงโฆษณาและข้อมูลเชิงลึกต่างๆ โดยสามารถขยายเครือข่ายฐานลูกค้าและช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางธุรกิจ
นอกจากนี้การร่วมมือกับพันธมิตรสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น เพิ่มการเข้าถึงของลูกค้าให้กับธุรกิจ มีผลการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการมีส่วนแบ่งรายได้ ผลกำไรและเงินปันผลที่สูงขึ้น
ธุรกิจ MATCH ของบริษัทเป็นการรวมพอร์ตโฟลิโอธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่บริการทางการเงินภายใต้ แรบบิท โฮลดิ้งส์ และบริษัทย่อย และบริษัทร่วม ที่ประกอบธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง