2 ปี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คว้าน้ำเหลวล้างหนี้ “สายสีเขียว” 1.08 แสนล้าน

12 ก.ย. 2567 | 22:00 น.

สแกนแผนล้างหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 1.08 แสนล้านบาท หลัง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รับตำแหน่งผู้ว่ากทม.กว่า 2 ปี พบกทม.แบกภาระอ่วม หลังรัฐบาลยุคก่อน เมินจ่ายหนี้-เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ลุ้นเปิดประมูลใหม่-ขยายสัมปทาน BTS 30 ปี แลกหนี้ก้อนโต

KEY

POINTS

  • สแกนแผนล้างหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 1.08 แสนล้านบาท หลัง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รับตำแหน่งผู้ว่ากทม.กว่า 2 ปี
  • พบกทม.แบกภาระอ่วม หลังรัฐบาลยุคก่อน เมินจ่ายหนี้-เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย
  • ลุ้นเปิดประมูลใหม่-ขยายสัมปทาน BTS 30 ปี แลกหนี้ก้อนโต

ภายหลังจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม2565 โดยประกาศว่าจะเข้ามาแก้ปัญหา “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หลังจากนั้นจะเร่งรัดหาข้อสรุปภายใน 1 เดือน ปัจจุบันผ่านมากว่า 2 ปี พบว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวได้รวดเดียวในทันทีอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้

เนื่องจากปัญหาที่กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ในรัฐบาลก่อนไม่มีทีท่าจะชำระหนี้ให้แก่เอกชนได้ตามสัญญาอีกทั้งไม่ได้เร่งจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 หลังจากเปิดให้บริการเป็นเวลาหลายปี ส่งผลให้มีหนี้สะสมเป็นจำนวนมาก 1.08 แสนล้านบาท

ถึงแม้ว่าขณะนี้ กทม.ได้ชำระหนี้ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) วงเงิน 23,000 ล้านบาท แล้ว แต่ปัจจุบันยังคงมีหนี้ค้างชำระไม่น้อย หากจะนำงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีมาชำระทั้งหมดทีเดียว จะทำให้กทม.มีงบประมาณไม่เพียงพอในการบริหารราชการภายในพื้นที่กทม. จึงจำเป็นต้องเสนอต่อสภากทม.พิจารณาอนุมัติงบประมาณเงินสะสมจ่ายขาดทยอยชำระให้แก่เอกชนแทน

นอกจากนี้กทม.ยังมีหนี้ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่โอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2561 รวม 69,105 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 55,704 ล้านบาท และดอกเบี้ย 13,401 ล้านบาท โดยกทม.ประเมินว่าจากหนี้ดังกล่าว ส่งผลให้ขาดทุนจากรถไฟฟ้าส่วนขยายสีเขียว (ปี 2564-2572) จำนวน 30,000-40,000 ล้านบาท

โดยในปี 2541 รัฐบาลมีมติให้ รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบขยายเส้นทางรถไฟฟ้าจากกรุงเทพฯถึงจังหวัดปทุมธานีในเส้นทาง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ

ต่อมาในปี 2558 กระทรวงคมนาคมได้มีมติเปลี่ยนให้ กทม. เป็นผู้รับผิดชอบการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดแทนรฟม. ทำให้ กทม. ต้องรับโอนหนี้ค่าก่อสร้างประมาณ 69,105 ล้านบาท จาก รฟม. ก่อนการเจรจาจะแล้วเสร็จและมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องกรุงเทพมหานครกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT)

โดยพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 ราย ชำระหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (O&M) ร่วมกันภายในระยะเวลา 180 วันหรือภายใน 6 เดือน จำนวน 14,000 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย

ทั้งนี้ยังพบอีกว่าตามสัญญากทม.และเคทีต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา (O&M) ให้แก่บีทีเอสซี ทุกวันที่ 20 ของเดือน หากไม่มีการชำระหนี้ให้แก่บีทีเอสซีต้องเสียอัตราดอกเบี้ย 8.05% หรือเสียค่าดอกเบี้ย 7 ล้านบาทต่อวัน

นอกจากนี้การไม่ชำระหนี้ให้แก่เอกชนตามกำหนดยังก่อให้เกิดความเสียแก่เอกชน เพราะบีทีเอสซี มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินรถประมาณ 800 ล้านบาทต่อเดือน ไม่รวมดอกเบี้ย

ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมายืนยันว่าหลังจากศาลปกครองสั่งให้กทม.และเคทีชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่บีทีเอสนั้น จะเดินหน้าของบประมาณเงินสะสมจ่ายขาดมาชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งจะต้องเสนอต่อสภากทม.พิจารณาอนุมัติ

หากสภากทม.อนุมัติแล้วกทม.จะนำงบประมาณมาชำระแก่บีทีเอสรอบเดียวตามคำสั่งของศาลปกครอง คาดว่าจะเริ่มชำระหนี้ให้แก่บีทีเอสซีได้ภายในเดือน พฤศจิกายนนี้

 สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 สายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสายสีลม ช่วงตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ที่ต้องชำระ วงเงินรวม 39,402 ล้านบาท ดังนี้

 1.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2562-พฤษภาคม2564 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน เมษายน2560-พฤษภาคม2564

โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ชำระ 11,755 ล้านบาท ภายใน 180 วัน พร้อมดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) บวก 1% ต่อปี รวมแล้วประมาณ 14,000 ล้านบาท

 2.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน2564- ตุลาคม2565 วงเงิน 11,811 ล้านบาท โดยบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน2565 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองกลาง

หากมีคำพิพากษาในทิศทางเดียวกับคดีแรกจะทำให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคาร จำกัด ต้องชำระอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน

 3.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565- มิถุนายน2567 วงเงิน 13,513 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้ายังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง


 4.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน2567- ปัจจุบัน โดยสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายจะสิ้นสุดปี 2585
  2 ปี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คว้าน้ำเหลวล้างหนี้ “สายสีเขียว” 1.08 แสนล้าน
หลังจากนี้คงต้องจับตาผู้ว่าฯกทม.จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สายสีเขียวอย่างไร ควรต่อสัมปทานกับเอกชน 30 ปีเพื่อแลกหนี้หรือจะเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่แทน เพราะปัจจุบันกทม.มีสัญญาเดินรถของบีทีเอสที่จะสิ้นสุดในปี 2572และ ปี 2585

วิเคราะห์ หน้า 8 ฉบับที่ 4,027 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2567