ภคมน ซัด “คมนาคม” ดันแลนด์บริดจ์ เปิดช่องเอื้อนายทุนต่างชาติ ฮุบสัมปทาน 99 ปี

13 ก.ย. 2567 | 06:39 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 06:45 น.

ภคมน ส.ส.พรรคประชาชน ซัด “คมนาคม” เดินหน้าแลนด์บริดจ์ เชื่อม 2 ท่าเรือชุมพร-ระนอง หวั่นกระทบชีวิตชาวบ้าน ทำลายระบบนิเวศทางทะเล ผุดร่างพ.ร.บ.SEC ตั้งกฎหมายใหม่ เปิดช่องเอกชนต่างชาติถือครองที่ดิน คว้าสัมปทานยาว 99 ปี

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2567 นางสาวภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้อภิปรายถึงรัฐบาลแพทองธารในประเด็นโครงการแลนด์บริดจ์ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า

จากนโยบายที่ระบุในหนังสือคำแถลงนโยบายนั้นมีการกล่าวถึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนของเอกชน ทำให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของประเทศในภูมิภาค ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีคือ การที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปโรดโชว์โครงการนี้ในต่างประเทศทั่วโลก

พบว่ามีนักลงทุนส่วนใหญ่สนใจที่จะเข้าร่วมลงทุน โดยในที่ประชุมสภามีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาการลงทุนและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการแลนด์บริดจ์

ปัจจุบันรายงานฉบับนี้ยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยด้านความคุ้มค่าต่อการลงทุนได้

“ส่วนสาเหตุที่ดิฉันถามถึงความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากภาครัฐได้บอกว่าโครงการนี้รัฐไม่ได้ลงทุนสักบาท แต่เปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน หากโครงการไม่มีความคุ่มค่าเชื่อว่าไม่มีนักลงทุนสนใจร่วมลงทุน” นางสาวภคมน กล่าว

นอกจากนี้ยังมีคำคมโฆษณาที่ระบุว่ายกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางขนส่งทางน้ำของภูมิภาค หากใช้เส้นทางนี้จะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา

นางสาวภคมน กล่าวต่อว่า ดิฉันยังไม่เห็นว่าโครงการนี้จะเชื่อมต่อในการเป็นศูนย์กลางภูมิภาคได้อย่างไร เนื่องจากท่าเรือระนองและท่าเรือชุมพรตั้งอยู่ระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งทะเลทั้ง 2 ฝั่งไม่ได้เชื่อมต่อถึงกัน

หากเป็นผู้ประกอบการเรือเท่ากับว่าเราต้องมีเรือ จำนวน 2 ลำ เพราะเรือไม่สามารถวิ่งขึ้นบกได้ ซึ่งจะทำให้เราใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน เมื่อมาถึงแล้วกลับไม่มีเรือก็ต้องรอต่อไป หากใช้ช่องแคบมะลาผู้ประกอบการเรือจะใช้เรือเพียงลำเดียวสามารถเดินทางได้ทันที

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่สำคัญที่สุดคือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หากมีการก่อสร้างโครงการแลด์บริดจ์จะทำลายธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางภาคใต้ เช่น

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง,อุทยานแห่งชาติแหลมสน,อุทายานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน,อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ฯลฯ ตลอดจนเกาะพยามและอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประชาชนแดนใต้

ส่วนการถมทะเลนั้นถือเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชนและภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบทางธรรมชาติ ขณะที่บริษัทดูไบพอร์ตเวิล์ด ได้ลงพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งมีการสรุปผลศึกษาแล้ว หากให้เอกชนมาร่วมลงทุนคงไม่คุ้มค่า ซึ่งรัฐบาลจะต้องมาร่วมลงทุนด้วย

นอกจากนี้ผลศึกษาของบริษัทดูไบฯ ที่อ้างอิงตามนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า แลนด์บริดจ์มีบางประเทศที่สนใจมาคุยกับผมถ้าลงทุนจะเป็นยังไง แต่ตอนหลังมาก็ยังไม่ได้คุยต่อ

แต่ว่าวันนี้มีภาคเอกชนไทยสนใจทำขาเดียว คือฝั่งอันดามัน เพราะคุ้มค่าแก่การลงทุน ส่วนท่าเรือที่เชื่อมไปอ่าวไทยไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน สุดท้ายจะกลายเป็นภาระของรัฐบาลที่จะเข้ามาดูแลโครงการนี้ต่อ

นางสาวภคมน กล่าวต่อว่า หากโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นจะมาพร้อมสิทธิพิเศษมากมายโดยเฉพาะพื้นที่การพัฒนาโดยรอบบริเวณโครงการฯนี้ด้วย

ขณะเดียวกันการตัดสินใจการเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดระนองถูกดองต่อไปเรื่อย ๆ เดิมจังหวัดระนองมีแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกพร้อมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัด แต่โครงการถูกพับแผนออกไป เนื่องจากรัฐบาลสนใจแต่เพียงจะสร้างแลนด์บริดจ์ 
 

“โครงการแลนด์บริดจ์มีแค่ภาพฝันและภาพในจินตนาการยังไม่มีใครรับประกันว่าโครงการจะสำเร็จหรือมีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน” นางสาวภคมน กล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพร้อมเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ โดยผลักดันร่างพ.ร.บ. SEC ชงครม.ให้ได้ภายในเดือนกันยายน 2568 การที่ผลักดันเรื่องนี้ถือเป็นการบิดเบือนผังเมืองทางเศรษฐกิจที่เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเอื้อนายทุนเพียงบางกลุ่ม ซึ่งโครงการเหล่านี้เคยถูกมาใช้แล้วในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในภาคใต้

“รัฐบาลนี้ไม่ได้มีวิธีที่ฉลาดไปกว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  เมื่อไรก็ตามที่มีการออกโครงการขนาดใหญ่มักจะมีกฎหมายพิเศษมารองรับ" นางสาวภคมน กล่าว 

อีกทั้งกฎหมาย SEC ฉบับนี้ไม่มีอะไรใหม่แล้วยังเป็นกลไกแบบรวบอำนาจ โดยการตั้งคณะกรรมการพิเศษแบบรัฐซ้อนรัฐ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ SEC ที่มีอำนาจการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและการถือครองที่ดินเป้าหมายใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย

ชุมพร ,ระนอง,สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งการระบุในลักษณะนี้อาจส่งผลต่อการสูญเสียที่ดิน,การลักลอบทิ้งสารพิษและกากอุตสาหกรรม ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ ตลอดจนเป็นการเอื้อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 99 ปี