กระทรวงคมนาคม มีโครงการขนาดใหญ่ จำนวน หลายโครงการ ที่ต้องเสนอต่อคณะรัฐบาลตรี (ครม.)แพทองธาร1 สานต่อ จากรัฐบาลเศรษฐา เพื่อใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
หนึ่งในนั้นคือ โครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน มูลค่า1ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม ที่มีหมุดหมายเชื่อมโยงท่าเรือชุมพร กับท่าเรือระนอง เข้าไว้ด้วยกัน
เพื่อสะดวกต่อการขนถ่ายสินค้าและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางเรือ ประตูการค้าแบบไร้รอยต่อจากจีนสู่อาเซียน และทั่วโลก
ปัจจุบันประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ส่วนให้เห็นชอบให้ผลักดันต่อเนื่อง มองว่ามีประโยชน์ช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนทางภาคใต้ให้เติบโตจากการลงทุนและการจ้างงานในพื้นที่
จากผลของการเดินสายโรดโชว์ ยังต่างประเทศ ของ รัฐบาลเศรษฐา และกระทรวงคมนาคม จึงนำมาซึ่งความสนใจของนักลงทุนต่างชาติหลายประเทศรวมถึงนักลงทุนของไทยต้องการเข้าปักหมุดในพื้นที่ทั้งการเดินเรือ การลงทุนก่อสร้างท่าเรือ รวมถึงพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากการลงทุน
อย่างไรก็ตาม โครงการแลนด์บริดจ์ อยู่ภายใต้การผลักดันของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลแพทองธาร1 ต้องการพัฒนาพื้นที่ของทั้งสองฝั่งอันดามันและอ่าวไทยเข้าด้วยกัน
และเป็นเป้าหมายเดียวกันที่รัฐบาลแพทองธาร 1 จะขับเคลื่อนต่อ เนื่องจากเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ที่ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เคยกล่าวไว้ บนเวที Vision for Thailand 2024 จัดโดย เนชั่นที่ให้ความสำคัญสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล
ขณะความคืบหน้า สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. ....( พ.ร.บ.SEC )
ตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐบาลแพทองธารเป็นลำดับต้นๆ เพื่อใช้เป็น กลไกในการกำหนดพื้นที่ของระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ การกำหนดสิทธิประโยชน์นักลงทุน
รวมไปถึงอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่จะกำกับ และขับเคลื่อนระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ รวมไปถึงโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะพัฒนาขึ้นในพื้นที่แห่งนี้
นายสุริยะ กล่าวว่า สถานะของโครงการแลนด์บริดจ์ และพ.ร.บ.SEC หากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.2568 หลังจากนั้นจะมีการจัดตั้งสำนักงาน SEC และเข้าสู่แผนงานอื่นๆ
โดยในส่วนการออกแบบทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา EIA แล้วเสร็จในปี 2568
ทั้งนี้ สอดคล้องกับการออกแบบท่าเรือ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และส่งให้ สผ. พิจารณาแล้วเสร็จในปี 2568
ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกเอกชน การจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2569 ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ลงทุนแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2569
จากนั้นจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติโครงการภายในไตรมาส 2/2569 จากนั้นจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคา และเริ่มดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ในไตรมาส 3 ปี 2569 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2573
ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... 8 หมวด
หมวด 1 บททั่วไป : กำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และวัตถุประสงค์
หมวด 2 คณะกรรมการนโยบาย : คณะกรรมการนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
หมวด 3 สำนักงาน : สำนักงานกรรมการนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พร้อมอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน และเลขานุการสำนักงานฯ
หมวด 4 การพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ : แผนพัฒนาภาพรวมการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ข้อกำหนดเกี่ยวกับสัดส่วนการให้นิติบุคคลต่างชาติสามารถเข้าร่วมลงทุน
หมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : กำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
หมวด 6 กองทุน
หมวด 7 การกำกับดูแล
หมวด 8 บทกำหนดโทษ
สิทธิประโยชน์ : สิทธิประโยชน์ด้านภาษี สิทธิในการพำนักระยะยาว สิทธิในการถือครองที่ดิน และแนวทางให้เอกชนรับแรงงานในพื้นที่และคนไทยพลัดถิ่นเข้าทำงาน
สาระสำคัญ ร่างพ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ...
1. กำหนดพื้นที่ของระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นใดในภาคใต้ที่กำหนดเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และทำหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนดำเนินการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
3. กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่น
โดยจัดทำนโยบายและแผนภาพรวมเพื่อพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ
4. กำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านต่าง ๆ
5. กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
สถานะการเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ ....
1. สนข. ได้ขับเคลื่อนการจัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC โดยเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ. SEC และมอบหมายให้ สนข. เป็นหน่วยงานในการจัดทำและเสนอร่าง พ.ร.บ. SEC ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
2. สนข. ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2567 เพื่อพิจารณาและมอบหมายให้ สนข. ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์เป็นหน่วยงานในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบให้ สนข. เป็นหน่วยงานในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC แล้ว เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2567
3. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเพื่อการพิจารณาของ กพศ. และคาดว่าร่าง พ.ร.บ. SEC จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.2568