KEY
POINTS
จากวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ โดยพบว่ามีนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ต่างให้ความสนใจท่าเรืออันดามันเป็นอย่างมาก
ล่าสุดกระทรวงคมนาคมยังคงเดินหน้าสร้างท่าเรือ 2 ฝั่ง ซึ่งเป็นแนวเส้นทางขนส่งสินค้าไปจีน-สปป.ลาว และเป็นเส้นทางเชื่อมรถไฟไทย-จีน ในอนาคต
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือ แลนด์บริดจ์ นั้น หลังจากผู้บริหารบริษัท Dubai Port World (DP World) ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานดังกล่าว เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดตั้งคณะทำงานร่วมกัน
โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ดำเนินการจัดทำรายชื่อคณะทำงานฝ่ายไทย เสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณา คาดว่ากระทรวงฯเห็นชอบได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ก่อนนำเสนอต่อบริษัท Dubai Port World (DP World) พิจารณาต่อไป
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การออกแบบท่าเรือ 2 ฝั่งของโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุภาพ (EHIA)
ซึ่งปัจจุบันติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตเข้าพื้นที่ทั้ง 2 จุด คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2568 ส่วนการออกแบบทางรถไฟขนาด 1 เมตร เบื้องต้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เริ่มดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดฯ ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นปี 2568
ส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์นั้น ปัจจุบันรฟท.ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2568 แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2568
ขณะที่การออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ปัจจุบันกรมทางหลวง (ทล.) ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2567 คาดว่าจะดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการฯ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเสร็จภายในปลายปี 2568
ทั้งนี้ตามแผนโครงการแลนด์บริดจ์ สนข.ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2567 จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำร่างเอกสารการประกาศประกวดราคาหาผู้รับจ้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนเมษายน 2568 และเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนตุลาคม 2568 ใช้รูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ระยะเวลา 50 ปี โดยประมูลเป็นแพ็กเกจเดียวกัน
หลังจากนั้นจะดำเนินการออกพ.ร.ฏ.เวนคืนที่ดิน ภายในเดือนกรกฎาคม 2569-ต้นปี 2570 คาดว่า ครม. อนุมัติโครงการฯและลงนามสัญญาพร้อมเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ภายในกลางปี 2569 โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2573
นายปัญญา กล่าวต่อว่า ด้านความคืบหน้าร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ขณะนี้สนข.ได้จัดทำร่างพ.ร.บ.SEC ฯ แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภพัฒน์) เพื่อเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นประธานพิจารณาต่อไป
“การจัดทำร่างพ.ร.บ.SEC ปัจจุบันสนข.ไม่ได้มีอำนาจในการดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ทำเรื่องไปยังคณะกรรมการกพศ.พิจารณาในการออกกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อมอบอำนาจให้กระทรวงคมนาคมให้สนข.เป็นผู้จัดทำร่างพ.ร.บ.SEC ฉบับดังกล่าว” นายปัญญา กล่าว
นายปัญญา กล่าวต่อวว่า เมื่อคณะกรรมการกพศ.อนุมัติ แล้ว หลังจากนั้นสนข.จะนำร่างพ.ร.บ.SEC เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายพ.ร.บ.SEC ภายในเดือนตุลาคมนี้
หลังจากนั้นสนข. ต้องจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.SEC คาดว่าแล้วเสร็จไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2567
หากร่าง พ.ร.บ.SEC ปรับปรุงแล้วเสร็จ สนข.จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและเสนอต่อครม. เห็นชอบภายในเดือนธันวาคม 2567 คาดว่าครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.SEC และนำเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในเดือนมกราคม 2568
หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำร่างพ.ร.บ.SEC นำขึ้นทูลเกล้า เพื่อลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายภายในเดือนกันยายน 2568
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ มีรายละเอียดรูปแบบการลงทุนโดยให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ในระยะเวลา 50 ปี ประกอบด้วย ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพร และท่าเรือระนอง)
ส่วนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium)
ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตามจากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ณ ปี 2566 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน