คลังเล็งออกมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย หลังน้ำลด

16 ก.ย. 2567 | 23:54 น.

คลังเผย “แบงรัฐ” ออกมาตรการบรรเทาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผ่านการพักหนี้-จัดสินเชื่อให้ เล็งเยียวยาเพิ่มเติม หลังน้ำลด

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันการเงินของรัฐ ได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบกรณีประชาชนประสบอุทกภัย โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงรายแล้ว อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ และสินเชื่อสำหรับซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากน้ำลดแล้วจะต้องมาดูรายละเอียดอีกครั้ง ว่าจะมีการเยียวยาอย่างไร

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

“ตอนนี้ภาครัฐมีเครื่องมือผ่อนปรนช่วยลดภาระประชาชนที่โดนผลกระทบน้ำท่วม เช่น แบงก์รัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงคลัง ก็ได้ออกมาตรการพักหนี้ โดยน้ำท่วมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ของเรา หากน้ำลดแล้วต้องมาอยู่กันว่าจะเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร”

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินได้ออกชุดมาตรการทางการเงินเพื่อลดภาระของผู้ประสบภัยน้ำท่วม ประกอบด้วย มาตรการพักหนี้และลดดอกเบี้ย โดยให้พักชำระเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยครึ่งหนึ่ง ส่วนดอกเบี้ยที่เหลืออีกครึ่งธนาคารลดให้ เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ทั้งบุคคล และ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ แบบไม่ต้องมีหลักประกันและไม่มีผู้ค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% ใน 3 เดือนแรก และปลอดชำระเงินงวดนาน 3 เดือน จากนั้นเดือนที่ 4 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย 0.60% 

ทั้งนี้ ยังมีสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัย สำหรับลูกค้าธนาคารออมสินและประชาชนทั่วไป ที่จำเป็นต้องซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยซึ่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม วงเงินกู้สูงถึง 100% ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ยลดพิเศษเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 3.233% ต่อปี

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในส่วนของเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนและผลผลิตได้รับความเสียหายจนส่งผลกระทบต่อรายได้ แต่ยังคงมีภาระหนี้สินอยู่กับ ธ.ก.ส.นั้น ธนาคารพร้อมเลื่อนเวลาการชำระหนี้ออกไปสูงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สาขาในสังกัดในพื้นที่ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตประสบภัยโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ยังมีมาตรการฟื้นฟูและเสริมสภาพคล่องเกษตรกร ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในด้านค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท

2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนในการซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์ การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567 รวม 7 มาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าโดยครอบคลุมทั้งการลดเงินงวดและดอกเบี้ย ให้กู้เพิ่ม/กู้ใหม่ อัตราดอกเบี้ยต่ำ ประนอมหนี้ ปลอดหนี้ รวมถึงการมอบสินไหมเร่งด่วนให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยขณะนี้ ธอส. ได้ติดต่อลูกค้าผ่านทุกช่องทางของธนาคารเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบแล้ว 

“มีลูกค้าแจ้งความเสียหายและส่งภาพถ่ายที่อยู่อาศัยเพื่อยื่นความประสงค์ขอรับสินไหมเร่งด่วนแล้วกว่า 400 ราย คิดเป็นประมาณการวงเงินความเสียหายรวมกว่า 15 ล้านบาท โดยยังมีลูกค้าติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์จะมีลูกค้าทยอยยื่นความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นต่อไป” 

โดย ธอส. ยืนยันพร้อมประสานงานกับบริษัทพันธมิตรประกันวินาศภัย ประกอบด้วย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ทำประกันอัคคีภัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ ให้ได้รับสินไหมเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ (รายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามกรมธรรม์)