สัญญาณคนว่างงานภาคบริการ น่ากังวลแค่ไหน

17 ก.ย. 2567 | 05:29 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2567 | 05:30 น.

การว่างงานในภาคบริการของไทยเป็นปัญหาที่น่าจับตา เพราะภาคนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ สะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาในการ “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ”

ข้อมูลบางส่วนในรายงานมุมมองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 / 2567 โดย SCB EIC ระบุว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หลังจากเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก ภาพรวมทั้งปี 2024 จะขยายตัว 2.7% และมีแนวโน้ม Soft landing ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ 2.8% ในปี 2025 แต่ที่น่าสนใจก็คือ “อัตราการว่างงาน” ที่ปรับสูงขึ้นบ้างในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1.04% โดยเฉพาะ “ภาคบริการ” เริ่มมีสัญญาณอัตราการว่างงานสูงขึ้น ในกลุ่มธุรกิจขนส่ง ขายส่งและขายปลีก ที่พักแรมและร้านอาหาร

สัญญาณคนว่างงานภาคบริการ น่ากังวลแค่ไหน

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สะท้อนภาพว่า หากดูในภาพรวม อัตราการว่างงานในระดับ 1% จะถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิธีการวัดอัตราการว่างงานอาจจะไม่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย เนื่องจากหลักคิดของสากลจะนับว่าคนที่ทำงานเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ให้ถือว่าเป็นคนมีงานทำ แต่เศรษฐกิจไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบเยอะ จึงทำให้คนจำนวนมากยังคงถือว่ามีงานทำแแม้ว่าอาจจะได้รายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่คนออกจากงานในภาคบริการมีความน่ากังวลใจมาก เพราะระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไป จะมีการปรับโครงสร้างจากภาคเกษตรมาเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ นั่นก็หมายความว่า ในสภาวะทั่วไปแล้ว ควรจะต้องเห็นแรงงานที่ออกจากงานในภาคเกษตรเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม และมาสู่ภาคบริการในที่สุด ภาคบริการจึงควรเป็นแหล่งจ้างงานหลักที่รองรับผู้ว่างงานจากสาขาอื่นๆ

การที่ภาคบริการมีอัตราการว่างงานสูงขึ้นจึงอาจสะท้อนถึงความอ่อนแอของภาคเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาในการ “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ” ที่อาจจะชะงัก แม้ว่าอัตราการว่างงานจากภาคบริการจะสูงขึ้น แต่หากอยู่ในระดับเพียงราวๆ 1% ก็ยังคงถือว่าไม่ได้สูงมากนัก

“อาจจะสรุปได้ว่าเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างที่อาจจะเป็นภาพลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ยังคงไม่ได้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากนัก ควรจะต้องติดตามสถานการณ์ตัวเลขนี้กันต่อไป” 

ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาก่อนที่จะลุกลามไปมากกว่านี้ ดร.นณริฏ ระบุว่า จะต้องทำทั้ง พัฒนาทักษะ และการสนับสนุนให้ธุรกิจภาคบริการเข้มแข็ง 

ภาคบริการหลายประเทศ รวมถึงจีน ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดการว่างงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม การค้าปลีก และภาคบริการอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

สาเหตุของการว่างงานในภาคบริการ

ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้ความต้องการในภาคบริการลดลงเช่นกัน หลายธุรกิจในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องลดขนาดหรือปิดกิจการ

การพัฒนาเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลส่งผลให้ภาคบริการต้องปรับตัว การซื้อขายออนไลน์ส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม และเทคโนโลยีบริการตนเองก็ลดความจำเป็นในการจ้างแรงงานในร้านอาหารและโรงแรม

การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์และการจำกัดการเดินทาง ส่งผลกระทบหนักต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม แม้ว่าการจำกัดต่าง ๆ จะถูกยกเลิกแล้ว แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้โอกาสการจ้างงานในภาคนี้ลดลง

ผลกระทบของการว่างงานในภาคบริการ

การสูญเสียงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม เศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการว่างงาน เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางและความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับการเดินทาง

การลดลงของอุตสาหกรรมค้าปลีก การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซส่งผลให้ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมเผชิญกับความยากลำบาก จนนำไปสู่การปลดพนักงานและปิดกิจการ

ความไม่มั่นคงในอาชีพระยะยาว แรงงานในภาคบริการมักเผชิญกับความไม่มั่นคงในการทำงานและค่าจ้างที่ต่ำ ซึ่งทำให้การฟื้นตัวจากการว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจยากขึ้น