เก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท หนุนรายได้รัฐเพิ่มปีละ 2,100 ล้าน

10 ก.ค. 2567 | 00:31 น.

ศุลกากรชี้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท ราบรื่น คาด 3 เดือนสุดท้ายปีงบ 67 รีดภาษีไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ประเมินทั้งปีเก็บรายได้เฉลี่ย 2,100 ล้านบาท

หลังจากกรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 116/2567 ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท มีผลทำให้ของที่นำเข้าที่มีราคาตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ต้องชำระภาษีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2567

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี  ในฐานะโฆษกกรมศุลกากรเปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินการไม่ติดขัดปัญหาใดๆ เนื่องจากที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการหารือกับบริษัทขนส่งอย่างต่อเนื่อง สำหรับวิธีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท จะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการขนส่งเอกชน และไปรษณีย์ไทย

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี  ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร

ทั้งนี้ผู้ประกอบการขนส่งเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ ซึ่งจะจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ซื้อสินค้าก่อน ขณะนำเข้าเลย ส่วนไปรษณีย์ไทยนั้น พนักงานไปรษณีย์จะนำจ่ายพัสดุและใบสั่งเก็บเงิน (Order form) เพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้รับสามารถชำระภาษีมูลค่าเพิ่มผ่าน QR CODE ได้ทันที หรือนำใบสั่งเก็บเงินไปชำระที่ธนาคารหากไม่สะดวกสแกน QR CODE

“กรณีไม่มีผู้รับ พนักงานไปรษณีย์จะส่งใบนัดนำจ่ายพร้อมใบสั่งเก็บเงิน ผู้รับสามารถชำระภาษีมูลค่าเพิ่มผ่าน QR CODE หรือธนาคารที่กำหนด และติดต่อขอรับของได้ที่ทำการไปรษณีย์ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ออกใบนัดนำจ่าย ยอมรับว่า ช่องทางไปรษณีย์ไทยนั้นอาจจะล่าช้าเล็กน้อย เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด สำหรับการติดใบสั่งเก็บเงิน เพราะปริมาณสินค้านำเข้าผ่านช่องทางไปรษณีย์มีจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ 1,000-10,000 กล่อง”นายพันธ์ทองกล่าว 

 ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีปริมาณสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท นำเข้ามาในประเทศไทย เฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท ซึ่งหากคิดเป็นทั้งปี จะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 2,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2567 นี้ ได้เริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ระยะเวลาเพียง 3 เดือนจากเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 คาดว่า จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ประมาณ 500 ล้านบาท

 “เราคาดว่า ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 นี้ จะมีรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท เฉลี่ยเดือนละ 175 ล้านบาท และในอนาคตอาจจะมีแนวโน้มการจัดเก็บรายได้เพิ่มสูงขึ้น ตามปริมาณการจับจ่ายสินค้าออนไลน์”

 นายพันธ์ทองกล่าวว่า กรมจะดำเนินการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว สำหรับสินค้านำเข้ามาที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ถึงสิ้นปี 2567 นี้ ตามประกาศของกรมศุลกากร และหลังจากนั้น เมื่อกรมสรรพากร แก้ไขประมวลรัษฎากรเรียบร้อยแล้ว สรรพากรจะขอความร่วมมือให้แพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ เป็นผู้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทน แล้วให้นำส่งกรมสรรพากรเป็นรายเดือน

 “หลักการของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ต้องการมุ่งเน้นเรื่องรายได้เป็นหลัก แต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมในการทำธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชาวไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งทางรถบรรทุกจากจีน เข้ามาด่านมุกดาหารมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นด่านนครพนม”

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ www.Tarad.com กูรูด้านอีคอมเมิร์ซไทยกล่าวว่า การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น ช่วยลดการไหลเข้าของสินค้าจีนได้ระดับหนึ่ง โดยสร้างให้เกิดความเป็นธรรมกับสินค้าไทย และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศจากที่ไม่เคยได้มาก่อน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยก็ยังมีความเสียเปรียบจากสินค้าจีนหลายด้าน ทั้งในเรื่องของต้นทุนสินค้า ที่ผู้ค้าจีนนำเข้าสินค้าจากโรงงานผลิตโดยตรง และไม่เสียภาษีศุลกากรขาเข้า

เก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท หนุนรายได้รัฐเพิ่มปีละ 2,100 ล้าน

 ทั้งนี้ การแก้ปัญหาสินค้าจีนล้นทะลักเข้ามาในไทยนั้นรัฐ ต้องดำเนินนการต่อเนื่อง และมีการแจ้งให้กับประชาชนได้รับรู้ โดยการแก้ปัญหาต้องมองเป็นภาพรวม ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะจุด โดยอาจต้องมีการควบคุมราคาสินค้าบางอย่างที่ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้ เช่น ผ้าขนหนู เพื่อไม่ให้สินค้าจีนเข้ามาดัมพ์ราคาถูก ทำลายโครงสร้างราคาตลาดจนพังไปหมด

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,008 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2567