ภาคธุรกิจชั้นนำ ประสานเสียงขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสีเขียว”

26 ก.ย. 2567 | 07:21 น.
อัพเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2567 | 06:47 น.

เปิดมุมมองภาคธุรกิจ ในสาขาสำคัญของประเทศ ทั้ง ภาคการเกษตร การก่อสร้าง ปิโตรเคมี และภาคการเงิน ประสานเสียงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสนใจการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หาโอกาสใหม่บนความท้าทาย

วันนี้ (26 กันยายน 2567) ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ฐานเศรษฐกิจ จัดงานสัมมนา Road To NET ZERO 2024 : The Extraordinary Green โดยเปิดเวทีเสวนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว Move Forward Green Economy Transitions ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนจากด้านต่าง ๆ ที่สำคัญของประเทศทั้ง ภาคการเกษตร การก่อสร้าง ปิโตรเคมี และภาคการเงิน มาร่วมเปิดมุมมองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

 

ภาคธุรกิจชั้นนำ ประสานเสียงขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสีเขียว”

 

ดันพลังงานสะอาดจากพืชเกษตร

นายธันยวีร์ พงษ์วัฒนาสุข กรรมการผู้จัดการธุรกิจเอทานอล บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด เปิดเผยว่า มิตรผลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะพลังงานสะอาดจากภาคการเกษตร เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกมากถึง 50% นับเป็นจุดแข็งกับการนำพืชต่าง ๆ มาต่อยอดผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น อ้อย ที่มีสัดส่วนมากถึง 56% ส่วนที่เหลือคือ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ไม้ยางพารา และปาล์มน้ำมัน 

นายธันยวีร์ พงษ์วัฒนาสุข กรรมการผู้จัดการธุรกิจเอทานอล บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด

สำหรับการผลักดันการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากพืชเกษตรหลักนั้น นายธันยวีร์ ระบุว่า มิตรผลให้ความสำคัญกับ 2 กลุ่มหลัก นั่นคือ พลังงานด้านไฟฟ้า และพลังงานในภาคการขนส่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้พลังงานจากอ้อยอย่างคุ้มค่า ตั้งแต่การนำมาผลิตเป็นน้ำตาล ส่วนกากชานอ้อยที่เหลือก็นำมาใช้เป็นพลังงานชีวมวล (Biomass) โดยผลิตเป็นไอน้ำ แล้วนำไอน้ำไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นพลังงานสีเขียว อีกส่วนเป็นเอทานอล ซึ่งนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเบนซิน

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้เอทานอลซึ่งเป็นพลังงานภาคเกษตรถือว่ามีส่วนสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลงได้มากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล นั่นคือ เอทานอล 1 ลิตร ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพียง 0.74 kgCO2eq เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเบนซินที่ปล่อยมากถึง 3.4 kgCO2eq หรือการใช้ไฟฟ้าจากชีวมวล ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพียง 0.0520 kgCO2/kWh เมื่อเทียบกับไฟฟ้าทั่วไปที่ปล่อยมากถึง 0.4999 kgCO2/kWh

ขณะเดียวกันมิตรผล ยังให้ความสำคัญกับการต่อยอดนำของเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร โดยเฉพาะใบอ้อย นำมาทำเป็นพลังงาน โดยที่ผ่านมารับซื้อใบอ้อยแล้วกว่า 1.7 ล้านตัน สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรกว่า 2,500 ล้านบาท และเมื่อนำใช้สร้างไฟฟ้าได้ถึง 650 MW ซึ่งสร้างายได้หมุนเวียนในระบบถึง 16,000 ล้านบาท 

ธุรกิจก่อสร้างตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม

นายเคนร์ ชัยชนะวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงศ์ชัย จำกัด (vcon group) กล่าวว่า vcon group ผลักดันอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบ โรงงานการผลิต และการนำมาใช้ในไซต์งานก่อสร้าง หรือ Construction Site ซึ่งที่ผ่านมาในช่วง 3-5 ปี เห็นว่า อุตสาหกรรมการก่อสร้างได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

นายเคนร์ ชัยชนะวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงศ์ชัย จำกัด (vcon group)

 

“ที่ผ่านมาในช่วง 4-5 ปี อุตสาหกรรมไฮเทคที่เข้ามาตั้งโรงงาน หรือก่อสร้างต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยทุกคนที่ลงทุนก่อสร้างได้ขอให้จัดหาวัสดุก่อสร้าง ที่ลดการใช้คอนกรีต และเหล็ก แต่ยังคงความแข็งแรงเท่าเดิม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ที่ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” นายเคนร์ กล่าว

แนะเอสเอ็มอีเร่งสร้างความยั่งยืน

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจ SME มีความท้าทายกับการดำเนินธุรกิจหลายย่าง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง กติกาทางการค้าใหม่ที่มีทั้งโอกาสและอุปสรรค พฤติกรรมการการบริโภคในประเทศที่เปลี่ยนไป การเข้าสู่สังคมสูงวัย และภัยพิบัติที่รุนแรง ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีของประเทศกับการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank

ทั้งนี้ SME D Bank มองว่า ความสำคัญที่ต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นโดยเร็วนั่นคือ การสร้างความยั่งยืน เพื่อสร้างการอยู่รอด แต่ทั้งหมดก็เป็นความท้าทาย นั่นเพราะจากการสำรวจข้อมูลความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีอยู่แค่ 62% เท่านั้นที่รับทราบเกี่ยวกับการสร้างความยั่งยืน และเมื่อสำรวจลึกลงไปในกลุ่มนี้ กว่า 83% ก็เข้าใจเรื่องความยั่งยืนแค่เบื้องต้นเท่านั้น 

อีกส่วนหนึ่งคือความเข้าใจเรื่อง ESG ก็พบว่า มีเอสเอ็มอีเพียงแค่ 26% เท่านั้นที่ดำเนินการตามแนวทาง ESG อย่างเข้มข้น โดยส่วนใหญ่มองแค่มิติง่าย ๆ เช่น การแยกขยะ บำบัดน้ำเสีย จ้างงานซื้อวัตถุดิบชุมชน ควบคุมปล่อยมลพิษ เท่านั้น ซึ่งต่อไปจะต้องหาทางส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าใจถึงการสร้างความยั่งยืนมากขึ้น และจะต้องทำควบคู่ไปกับการเติมทุน ซึ่งปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และสามารถปรึกษากับ SME D Bank ได้ด้วย

โอกาส-ความท้าทายธุรกิจปิโตรเคมี

นายณัฐกร ไกรกุล ผู้จัดการฝ่าย (Vice President) Decarbonization Center of Excellence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำ กัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจปิโตรเคมีให้ความสำคัญกับการผลักดันการดำเนินธุรกิจและองค์กรสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพราะที่ผ่านมาเห็นว่ามีความท้าทายรูปแบบใหม่ที่จะเข้ามา จากเดิมเป็นอุตสาหกรรมที่มาจากความต้องการพื้นฐานจนพัฒนามาความสะดวกสบาย แต่ปัจจุบันมีความท้าทายคือ ทำอย่างไรถึงมีความสะดวกสบายและต้องลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย

 

นายณัฐกร ไกรกุล ผู้จัดการฝ่าย (Vice President) Decarbonization Center of Excellence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำ กัด (มหาชน)

 

ทั้งนี้เห็นว่าในปัจจุบันการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ อยู่ต่อไปได้ และไม่ควรมองข้ามในโอกาสในช่วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เช่น การหาโอกาสในการลงทุนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือโอกาสเข้าไปบริหารจัดการซัพพลายเชน โดยทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อหาโอกาสในผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดรับกับทิศทางโลกที่กำลังเดินหน้าอยู่ ซึ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ต้องปรับตัวให้เป็นไปตามวาระของโลกด้วย

“ความท้าทายของบริษัทตอนนี้คือต้องตอบโจทย์เหมือนเดิมคือความต้องการพื้นฐานความสะดวกสบาย แต่ต้องมีฟุตพริ้นท์ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งเรื่องการสร้างความยั่งยืน บริษัทได้ทำมา 10 กว่าปี เริ่มจากเรียนรู้ จนหยิบเอาความยั่งยืนมาอยู่ในระดับกลยุทธ์ขององค์กรว่าเราจะเติบโตไปข้างหน้าอย่างไร โดยที่มีฟุตพริ้นท์ในการดำเนินธุรกิจลดลง และไม่มองผลกำไรอย่างเดียว แต่มองเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมองโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ควบคู่ไปด้วย”