net-zero

Action Green Transition ทางรอดไทยสู่อนาคตสีเขียว

    กรมลดโลกร้อน แนะแนวคิด Action Green Transition กุญแจสำคัญที่ไม่เพียงแต่พูดถึงความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการลงมือปฏิบัติที่จำเป็นเพื่อปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและสังคมให้ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่วยให้ไทยบรรลุสู่เป้าหมาย Net Zero

โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ Action Green Transition ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่เป็นคำพูดที่ทันสมัย แต่ยังเป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและสังคมของเราให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียวนี้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ตั้งแต่พลังงาน การขนส่ง อุตสาหกรรม ไปจนถึงการเกษตรและการบริโภคในชีวิตประจำวันของเรา 

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำความสำคัญของ Action Green Transition

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำความสำคัญของ Action Green Transition รวมถึงแนวทางการปฏิบัติและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอันใกล้ ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567

วิกฤตโลกร้อน ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ

อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในช่วง 174 ปีที่ผ่านมา การสะสมของก๊าซเรือนกระจกได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบของโลก ส่งสัญญาณเตือนผ่านปรากฏการณ์ต่างๆผ่านความเข้มข้น ความรุนแรง และความเร็วในการก่อตัวของภัยพิบัติ ดังเช่น กรณีของ "พายุยางิ" ที่ผ่านมา

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภพภูมิอากาศ วันที่ 26 กันยายน 2567

ความกังวลที่สำคัญคือ เหตุการณ์เหล่านี้อาจกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ผลกระทบจะไม่ปกติเนื่องจากความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นมหาศาล การฟื้นฟูต้องใช้เงินจำนวนมากในการสร้างระบบเศรษฐกิจพื้นฐานให้กลับคืนมา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของไทย หากความแปรปรวนทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ประสิทธิภาพในการรับมือก็จะลดลง

 

งบประมาณคาร์บอนที่เหลือน้อยนิด

ในช่วง 174 ปีที่ผ่านมา โลกได้ใช้งบประมาณคาร์บอนไปแล้ว 83% เหลือเพียง 17% เท่านั้น และคาดว่าอีก 77% จะถูกใช้ไปภายในปี 2030 การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง หากไม่สามารถควบคุมได้ อุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสิ่งที่ 197 ภาคี รวมถึงประเทศไทย พยายามหลีกเลี่ยง

แผนการดำเนินงานของประเทศไทย

ประเทศไทยได้วางแผนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero โดยมีเป้าหมายระยะสั้นคือ 'การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด' หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ที่ 30-40% ภายในปี 2030 ขณะนี้แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ทั้งพลังงาน ขนส่ง เกษตร ของเสีย และอุตสาหกรรม ได้เสร็จสิ้นแล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อบังคับใช้ต่อไป

สำหรับเป้าหมายใหม่ในปี 2035 ภายใต้ความตกลงปารีส ซึ่งมีกำหนดส่งภายใน 1 กุมภาพันธ์ 2025 นั้น ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะดำเนินการให้ทัน แม้จะมีความท้าทาย เนื่องจากทั่วโลกต้องการเห็นการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 60% โดยเฉลี่ย

ความเสี่ยงของไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 9 ของโลก ในแง่ของประเทศที่มีความเสี่ยงต่อภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการวิเคราะห์ข้อมูลตลอด 20 ปีที่ผ่าน สำหรับประเทศไทยได้จัดส่งแผนการปรับตัวแห่งชาติให้กับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุม 6 สาขาสำคัญ

พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: เครื่องมือสำคัญสู่ Net Zero

พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ... กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา โดยมีเป้าหมายไม่ใช่เพื่อ "ฆ่า" ธุรกิจไทย แต่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero บนพื้นฐานของความยั่งยืน

เป้าหมาย (ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ...

พ.ร.บ. นี้ประกอบด้วย 14 หมวด แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่

1. การลดก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลเป็นรายองค์กร

2. กลไกการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading) ของภาคอุตสาหกรรมเป็นรายเซ็กเตอร์

3. การจัดสรรสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความสามารถในการผลิตและปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา

เป้าหมายคือให้ พ.ร.บ. นี้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในปี 2025 เพื่อส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2026

(ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ...กรมลดโลกร้อน

“สิ่งที่อยากเห็น คือ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่าน ครม. ให้ได้ เพื่อไปยังกฤษฎีกา เพราะเมื่อมองไปทุกกฎหมาย เเม้กระทั่งกรมสรรพสามิตที่กำลังช่วยอยู่ ตอนนี้ไทยไม่มีเครื่องมือที่จำเป็นที่สามารถใช้ได้ การมีชุดกฎหมายจะสร้างเครื่องมือใหม่ให้สามารถหยิบมาใช้ได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกบังคับมากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อมีเครื่องมือใหม่ เรามีสิทธิ์ในการหยิบมาใช้แล้วจะใช้อย่างไรก็ต้องมีกติกาที่ใช้ให้ดีที่สุด เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ เสนอคณะอนุกรรมการทางกฎหมายไปแล้วทั้งหมด 14 ครั้ง เหลืออีก 2 ครั้งที่จะไปคณะกรรมการแห่งชาติในเดือนตุลาคม จากนั้นจะเสนอเข้า ครม. เพื่อรับหลักการและส่งไปยังกฤษฎีกาตรวจร่างจะใช้เวลานานเท่าไหร่ตอบไม่ได้ เเต่จากนั้นก็ไปสภาฯ ตามวาระและนำไปสู่การบังคับใช้ กรมต้องการเห็นการบังคับใช้ในปี 2026”

Action Green Transition ทางรอดไทยสู่อนาคตสีเขียว

การปรับตัวและการบริหารจัดการความเสี่ยง

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดภาพรวมของความเสี่ยงในระดับจังหวัด ทำให้การบริหารจัดการภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมหรือภัยแล้ง เป็นไปอย่างยากลำบาก การพัฒนา Climate Data Center ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในปี 2568 จะช่วยให้มีข้อมูลที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพื่อการวางแผนและการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

"วันนี้ภาคเหนือของไทยกระทบมาก เราไม่มีภาพของความเสี่ยงทั้งจังหวัด ถ้าบอกว่าน้ำแล้ง น้ำท่วมเป็นทั้งจังหวัด แล้วจะบริหารจัดการอย่างไร จะใส่ระบบเตือนภัยล่วงหน้าไว้จุดไหน เพราะไม่มีเงินเหลือเฟือที่จะวางระบบได้ทุกจุด ดังนั้น ต้องคิดว่าจะควรวางในจุดไหนเพื่อจะได้เตือนข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็วและครอบคลุม ถ้าสามารถเตือนได้ ขนทรัพย์สินก่อน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เสียชีวิตก็จะไม่เกิดขึ้น" 

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ

อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทิ้งท้ายว่า ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่พยายามทำให้เกิดขึ้นมาใน Climate Data Center ของกรมลดโลกร้อนในปี 2568 ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนและกลไกสุดท้ายที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องภาษี เเละ  ETS ซึ่งก็คือ การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ผลิต หรือแม้กระทั่งเรื่องการปรับตัวของภาคธุรกิจ หรือในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งก็คือ กองทุนภูมิอากาศ โดยจะมีแหล่งเงินจากหลายแหล่ง ซึ่งเดิมทีได้จากรัฐบาลไม่เกิน 5,000 ล้านบาท  2 ปี จากนั้นจะมีแหล่งเงินจากการประมูลสิทธิ์ก๊าซเรือนกระจกและมีแหล่งเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศที่เป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องเก็บ

ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนให้ถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม แม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้