"สุริยะ" เปิดงาน GSTF 2024 ชวนจีนสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง

26 ก.ย. 2567 | 10:08 น.
อัพเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2567 | 10:17 น.

"สุริยะ" เปิดงาน "GSTF 2024" ถกแผนพัฒนาขนส่งยั่งยืน เชื่อม 2 ประเทศ “ไทย-จีน” ดึงรัฐบาลจีน ศึกษาสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการเปิดงานประชุม Global Sustainable Transport Forum 2024 (GSTF 2024) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า

การพัฒนาด้านการขนส่งอย่างยั่งยืนว่า การพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืน ถือเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลให้หลายประเทศต้องประสบกับปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ

ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เป็นอย่างมาก รวมถึงปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ซึ่งเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อทุกประเทศอย่างไร้พรหมแดน ทุกประเทศจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยปกป้องทรัพยากรที่มีคุณค่า

ขณะเดียวกันในงานประชุมดังกล่าว ยังกล่าวถึงความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน

ซึ่งทั้งฝ่ายไทยและจีน เห็นพ้องต้องกันว่า อยากให้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาวจีนประสบผลสำเร็จ

ขณะนี้รถไฟความเร็วสูงจากจีนตอนใต้ (คุนหมิง) ไปเวียงจันทน์ สปป. ลาว เปิดใช้งานมา 2 ปีแล้ว มีจำนวนผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากการเชื่อมต่อดังกล่าว สามารถเชื่อมต่อไปยังไทยได้ จะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ตนยังได้แจ้งให้ฝ่ายจีนทราบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน ระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 35% จะแล้วเสร็จในปี 2571

\"สุริยะ\" เปิดงาน GSTF 2024 ชวนจีนสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง

คาดว่าจะเริ่มโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ในปี 2568

ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ครบ 50 ปี

"ได้ขอให้รัฐบาลจีน พิจารณาให้ความช่วยเหลือการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง จาก สปป.ลาว มายังประเทศไทย เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์โดยเร็ว" นายสุริยะ กล่าว

ขณะที่เส้นทางการขนส่งสินค้าระบบรางทางจากเมืองโม่หาน ในจีน ผ่าน สปป.ลาว มายังอำเภอเชียง ภาคเหนือของไทย

ขณะนี้มีส่วนที่ขาดหายใน สปป.ลาว ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร (กม.) เบื้องต้นได้ขอให้รัฐบาลจีน พิจารณาก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ในส่วนที่ขาดหายดังกล่าว

เพื่อมาเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟทางคู่ของไทย ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางเด่นชัย-เชียงของ คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า

โดยเส้นทางรถไฟสายนี้จะเป็นประโยชน์กับการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะจากจีนตอนใต้ออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ที่ท่าเรือระนอง

นายเหอ หลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ตนมีความประทับใจที่มีรัฐมนตรีด้านการขนส่งจากหลายประเทศมาเข้าร่วมการประชุม GSTF 2024 ในครั้งนี้

พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน

\"สุริยะ\" เปิดงาน GSTF 2024 ชวนจีนสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง

ตามแนวทางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาติ (2030) หรือ SDGs เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

และด้านสภาพอากาศซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อให้รับมือได้อย่างเท่าทันสภาวะโลก

จีนในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการคมนาคมขนส่ง จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งที่ยั่งยืนระดับโลก

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศจีน และประเทศเพื่อนบ้านให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืน

โดยยึดหลักการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาติ หรือ UN (2030) เป็นโอกาสสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

และผู้แทนหน่วยงานด้านการคมนาคมขนส่งจากประเทศต่างๆ จะได้ร่วมกันผลักดันการพัฒนาด้านการขนส่งอย่างยั่งยืนอย่างจริงจัง

ร่วมกันสร้างระบบการขนส่งชนบทที่เป็นธรรม ครอบคลุม และยั่งยืน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเดินทางที่ปลอดภัยและสะดวกสบายสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งที่ขับเคลื่อนด้วย AI และสร้างเครื่องยนต์ใหม่สำหรับเศรษฐกิจระดับต่ำ (Low-altitude Economy)

และเสริมสร้างความร่วมมือด้านการกำกับดูแลและการตอบสนองฉุกเฉิน รวมถึงการสร้างโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นระหว่างประเทศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทางระบบนิเวศ

ก่อเกิดการพัฒนาพลังงานใหม่ที่จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและคาร์บอนต่ำในภาคการขนส่งระดับโลก

\"สุริยะ\" เปิดงาน GSTF 2024 ชวนจีนสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง

นายหลี่ จินหัว ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า ทุกประเทศได้พยายามผลักดันกันอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานทางเลือก

ภายหลังการประชุม Cop 29 (2024 United Nation Climate Change Conference หรือ Conference of the Parties of the UNFCCC)

ซึ่งมีสาระสำคัญในการลดผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 35% ในปี 2030

และ 40% ในปี 2040 จากภาคอุตสาหกรรมอละการขนส่ง ซึ่งองค์การสหประชาชาติต้องการผลักดันให้ทั้งรัฐภาคี ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมอย่างจริงจังจึงจะเกิดผล