ตั้งเป้าหมาย ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 และจะให้ไปถึง 600 บาทในปีสุดท้ายของรัฐบาล “ฐานเศรษฐกิจ” ประมวลเสียงสะท้อนในมุมมองผู้ประกอบการถึงผลกระทบที่ตามมารอบด้าน
เริ่มจาก นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ที่กล่าวว่า ภาคการเมืองยังคงเดินหน้าเพื่อปรับค่าจ้างเป็น 400 บาทต่อวันตามธงที่กำหนดไว้ เพื่อให้เป็นไปตามที่ได้หาเสียง ขณะที่การปรับอัตราค่าจ้างมีกลไกไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา หากย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2567 มีการปรับค่าจ้างแล้วสองครั้ง
ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม โดยปรับ 17 อัตราทั่วประเทศ ระหว่างวันละ 330-370 บาท เฉลี่ยปรับขึ้นร้อยละ 2.37 รอบที่ 2 ปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน เมื่อวันที่ 12 เมษายน เฉพาะกิจการโรงแรมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คนขึ้นไปใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว และปรับบางเฉพาะพื้นที่ โดยเฉลี่ยค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9
ต่อมา เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา มีการเรียกประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อปรับค่าจ้างขั้นตํ่าครั้งที่ 3 ของปี 2567 แต่ไม่สามารถประชุมได้เนื่องจากกรรมการฝ่ายนายจ้าง 5 คนแจ้งลากิจไม่เข้าร่วมประชุม เพราะรู้ว่าจะมีการล็อบบี้ใช้เสียงข้างมากปรับขึ้นค่าจ้าง โดยไม่สนใจการพิจารณาตามสูตรคำนวณค่าจ้าง
การไม่เข้าร่วมประชุมของฝ่ายนายจ้างเป็นการบอยคอตจนการประชุมไม่สามารถดำเนินการได้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าฝั่งนายจ้างไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของภาคการเมือง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการออกสื่อแถลงการณ์ปักธงค่าจ้าง 400 บาท ทั้งที่ยังไม่มีการพูดคุยผ่านกลไกไตรภาคี
นายธนิต กล่าวอีกว่า การเร่งรีบปรับค่าจ้างได้กำหนดการประชุมพิจารณาค่าจ้างอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 กันยายน ซึ่งทางประธานบอร์ดค่าจ้างได้ส่งสัญญาณอ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 82 หากนายจ้างมาหรือไม่มาการประชุมสามารถดำเนินการได้โดยจะใช้มติ 2 ใน 3 ปรับค่าจ้างให้เป็นไปตามธงที่กำหนดและจะเป็นบรรทัดฐานการปรับค่าจ้างว่าการเมืองสามารถกำหนดล่วงหน้าว่าจะปรับเท่าใดก็ได้ ขณะที่บอร์ดค่าจ้างมีแค่ลูกจ้างกับตัวแทนรัฐบาลสามารถประชุมปรับค่าจ้างของประเทศไทยมองว่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด
ก่อนประชุมคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีหนึ่งวัน สภาองค์กรนายจ้าง 17 องค์กรออกมาแสดงจุดยืนว่าการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นตํ่าจะต้องนำเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ผลิตภาพแรงงาน ความสามารถของธุรกิจและสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นองค์ประกอบ (ตามมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) นอกจากนี้ การพิจารณาค่าจ้างต้องพิจารณานำผลจากการพิจารณาของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นตํ่าจังหวัดมาเป็นองค์ประกอบ
“อย่างไรก็ดีการประชุมบอร์ดค่าจ้างวันที่ 20 กันยายน ปรากฎว่าองค์ประชุมไม่ครบอีกแต่กลับเป็นว่าตัวแทนฝ่ายรัฐบาลทั้ง 4 คนและตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง 2 คน ไม่เข้าร่วมประชุมทำให้ไม่สามารถพิจารณาการปรับค่าจ้างได้จนประธานต้องเลื่อนการประชุมออกไปอีก (ล่าสุดเลื่อนประชุมออกไปไม่มีกำหนด) ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างแปลกเพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีปรากฎว่า ต้องเลื่อนการพิจารณาค่าจ้างจากองค์ประชุมไม่ครบต่อเนื่องกันสองครั้ง”
ด้านนายวิสูตร พันธวุฒิยานนท์ นายกสมาคมผู้รับเหมาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลานี้เศรษฐกิจไม่ดี นายจ้างแบกรับต้นทุนรวมสูง ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเหลือ 33บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ลดลงไป10%
ส่วนตัวมองว่าปี 2568 เป็นอีกปีที่น่าเป็นห่วงและต้องดูเป็นรายธุรกิจว่าธุรกิจไหนพร้อมจ่าย 400 บาท ยอมรับว่าตอนนี้กลุ่มที่เป็นปัญหาคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับค่ายรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จากเวลานี้รถยนต์ขายไม่ดี บวกกับเดิมค่ายรถก็จ่ายค่าแรงงานสูงอยู่แล้ว หากปรับฐานค่าแรงขั้นตํ่าเป็น 400 บาทต่อวันคนที่ได้ 700 บาทต่อวันอยู่แล้ว ก็อยากปรับค่าแรงบ้าง
“ตอนนี้ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์มี 200-300 รายทั่วประเทศ ถ้านายจ้างสู้ค่าแรงไม่ไหวสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าอาจจะนำ AI เข้ามาแทนคนมากขึ้น คนก็จะตกงานเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตามประเมินว่าปี 2568 คนจะตกงานเพิ่มขึ้นแน่นอน จากเวลานี้ไทยมีแรงงานในระบบตามมาตรา 33 ราว 11 ล้านคน
ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องมี 3.5 ล้านคน และมีแรงงานต่างด้าวที่ไม่เข้าระบบอีกราว 2 ล้านคน ดังนั้นอยากเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาดูแรงงานว่ามีฝีมือแค่ไหนเพื่อให้คุ้มกับค่าแรงที่จ่าย และนักการเมืองไม่ควรเอาเรื่องค่าแรงไปหาเสียง แล้วผลักภาระให้ผู้ประกอบการ”
ขณะที่นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สถานการณ์เอสเอ็มอีไทยมีประเด็นเสี่ยงด้านแรงงานจากสภาวะปัจจัยภายในและภายนอกที่มีความหลากหลาย อีกทั้งยังมีบทบาทความสำคัญกับการจ้างงานของภาคเอกชนทั้งประเทศถึงร้อยละ 71 หรือ เกือบ 13 ล้านคน ส่วนใหญ่การจ้างงานจะอยู่ในภาคการบริการร้อยละ 44 รองมาภาคการค้าร้อยละ 33 ภาคการผลิตร้อยละ 22 และภาคธุรกิจเกษตรร้อยละ 1
หากพิจารณาการจ้างงานแต่ละขนาดกิจการจะพบว่าผู้ประกอบการรายย่อยมีสัดส่วนจ้างงานสูงสุดถึงร้อยละ 30 หรือกว่า 5.5 ล้านคน กับจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยสูงถึง 2.7 ล้านราย หรือร้อยละ 85 ของผู้ประกอบการทั้งหมดของประเทศ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ เอสเอ็มอีรายได้ลด จากสภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญทั้งกำลังซื้อหด การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เมืองรองมีอุปสรรค, มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต พลังงานไฟฟ้า นํ้ามัน ค่าแรง ภาระหนี้และดอกเบี้ย, ต้องการทุนหมุนเวียนเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจถึงร้อยละ 91
นอกจากนี้เอสเอ็มอีกับความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัลเทคโนโลยีและ AI ค่าแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงานและธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานทักษะสูง,การรุกของทุนข้ามชาติเข้ามากระทบเอสเอ็มอี อาทิ ธุรกิจผิดกฎหมาย นอมินี เข้าซื้อที่ดินเพื่อการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจศูนย์เหรียญ ล้งเกษตร-เหมาสวน ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สินค้าต้นทุนตํ่า และการส่งเสริมการลงทุนที่มาพร้อมแรงงานต่างชาติ เป็นต้น
ดังนั้นทางที่ดีที่สุด ในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างนี้ อยากให้ลูกจ้างนายจ้างหันหน้าเจรจากันด้วยเหตุผล และให้แรงงานอยู่ได้ นายจ้างอยู่ได้ด้วย ที่สำคัญอย่าปักธง 400 บาท เพราะสุดท้ายค่าแรงขึ้น ค่าครองชีพขึ้นตาม ปัจจุบันนายจ้างจำนวนมากมีสวัสดิการอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและจูงใจทำงาน เอสเอ็มอีบางรายมีทั้งอาหาร ที่พัก เบี้ยขยัน เงินช่วยค่าครองชีพ ถ้าขึ้นแบบนี้อาจลดสวัสดิการ เอาเฉพาะตามกฎหมาย เพราะนายจ้างแบกไม่ไหว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,030 วันที่ 26 - 28 กันยายน พ.ศ. 256