“คมนาคม” ทุ่ม 2.68 ล้านล้าน ลุยพัฒนาระบบราง-ขยายสนามบิน กรีนโลจิสติกส์

01 ต.ค. 2567 | 22:00 น.

“คมนาคม” โหมลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ 2.68 ล้านล้านบาท สู่กรีนโลจิสติกส์ ลดขนส่งทางถนน ดันระบบขนส่งทางราง-น้ำ-อากาศ หนุนพลังงานสะอาด หวังแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 45.6 ล้านตัน ภายในปี 2573

KEY

POINTS

  •  “คมนาคม” โหมลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ 2.68 ล้านล้านบาท สู่กรีนโลจิสติกส์
  • ลดขนส่งทางถนน ดันระบบขนส่งทางราง-น้ำ-อากาศ หนุนพลังงานสะอาด หวังแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
  • ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 45.6 ล้านตัน ภายในปี 2573

แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปีพ.ศ. 2564-2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021-2030) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในปี 2567 นี้

โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในระดับสาขา เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 222 MtCO2eq หรือ 40% จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573

ซึ่งด้านคมนาคมขนส่ง ถือเป็นสาขาหนึ่งที่ถูกกำหนดอยู่ในแผนในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การเพิ่มประสิทธิภาพยานยนต์

การพัฒนาระบบขนส่งในเมืองและโลจิสติกส์ระหว่างเมือง การส่งเสริมพลังงานทางเลือกในอนาคตสำหรับภาคขนส่ง (Hydrogen, Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF ในอากาศยาน) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนด้านการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

จากแผนดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จัดงานสัมมนา“Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green”เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

จากวิทยากรในสาขาต่าง ๆ และรับทราบนโยบายจากภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อน ที่จะรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น

ส่งเสริมใช้รถโดยสารไฟฟ้า

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้มีแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกสาขาขนส่ง ปี 2573

มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่ 45.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2) หรือคิดเป็นสัดส่วน 24.7% ผ่านการดำเนินงานกว่า 23 โครงการ วงเงินรวม 2.68 ล้านล้านบาท

ที่จะมาผลักดันโครงการเหล่านี้ให้สำเร็จได้ตามแผน ทั้งด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางไฟฟ้าเขตกทม. และปริมณฑล ภายในปีนี้ให้ได้ 3,100 คัน และการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. ในปี 2568 อีก 1,520 คัน

รวมถึงการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมืองของบขส.ในระยะแรกอีก 381 คัน นอกจากนี้ ยังจะผลิตหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้บริการระยะแรก 50 คัน การเพิ่มเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา

ซึ่งปัจจุบันให้บริการแล้ว 35 ลำ รองรับผู้โดยสาร 150 คน/ลำ รวมถึงการเพิ่ม EV Taxi ในสนามบิน ซึ่งปัจจุบันให้บริการแล้ว 100 คัน

เชื่อมระบบรางกทม.-ปริมณฑล

ขณะที่การพัฒนาระบบขนส่งในเมือง (Urban Mobility) มีโครงข่ายรถไฟฟ้ากทม. และปริมณฑล รวม 554 กิโลเมตร (กม.) โดยเปิดให้บริการแล้ว 7 สาย ระยะทาง 276 กม. ประกอบด้วย

รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีทอง และรถไฟสายสีแดง

ซึ่งการผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้น ทางกระทรวงคมนาคม กำลังเร่งเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย

โดยตั้งเป้าหมายผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทุกสีทุกสาย สามารถเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารราคาเดียวได้ภายในเดือนกันยายน 2568

อีกทั้ง อยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติระบบตั๋วร่วม (พ.ร.บ.ตั๋วร่วม) พ.ศ. ....เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีราคาถูกลง

ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้มากขึ้น คาดว่าร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน 2568

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองหลักในภูมิภาค

ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางเบา จ.เชียงใหม่ รถไฟรางเบา จ.ขอนแก่น รถไฟรางเบา จ.ภูเก็ต ฯลฯ เป็นต้น

เร่งพัฒนารถไฟทางคู่-ไฮสปีดเทรน

นายปัญญา กล่าวอีกว่า ขณะที่การพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างเมืองนั้น มีโครงข่ายรถไฟทางคู่ เปิดบริการแล้ว 4,044 กม.

โดยมีรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กม.ซึ่งโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ระยะทาง 1,479 กม.จำนวน 7 เส้นทาง อยู่ในแผนดำเนินการภายในปี 2565-2569

ปัจจุบันได้นำร่องรถไฟทางคู่สายขอนแก่น- หนองคาย ระยะทาง 167 กม.วงเงิน 28,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศประกวดราคา

ส่วนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 อีก 6 เส้นทาง อยู่ระหว่างเสนอรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และขออนุมัติโครงการ ประกอบด้วย

รถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103 ล้านบาท

รถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,900 ล้านบาท รถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม.วงเงิน 24,294 ล้านบาท

รถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 67,459 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,837 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) 2 เส้นทาง ประกอบด้วย

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 226,714 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง

และโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา (ไฮสปีดไทย-จีน) ระยะทาง 250 กม.วงเงินลงทุน 179,599 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357 กม. วงเงิน 341,315 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการ

คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569 ตามแผนจะเปิดให้บริการภายในปี 2574

ลงทุนขยาย 6 สนามบินหลัก

นายปัญญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ส่งผลให้ไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2574 จะมีนักท่องเที่ยวพุ่งถึง 200 ล้านคน

ทางกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะขยายท่าอากาศยานนานาชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น

การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 131,495 ล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบิน 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2568 และเปิดให้บริการปี 2575

การพัฒนาสนามบินดอนเมือง วงเงินลงทุน 36,820 ล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบิน 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2568 และเปิดให้บริการปี 2574

ขณะที่การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา วงเงินลงทุน 219,065 ล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบิน 13 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างปี 2568 และเปิดให้บริการปี 2571

สำหรับการพัฒนาสนามบินภูเก็ต วงเงินลงทุน 6,195 ล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบิน 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยจะเริ่มก่อสร้างปี 2569 และเปิดให้บริการปี 2572

ด้านการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ วงเงินลงทุน 15,085 ล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบิน 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างปี 2569 และเปิดให้บริการปี 2576

ส่วนการพัฒนาสนามบินล้านนา วงเงินลงทุน 70,000 ล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบิน 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยจะเริ่มก่อสร้างปี 2571 พร้อมเปิดให้บริการปี 2574

การพัฒนาสนามบินอันดามัน วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปีและรองรับเที่ยวบิน 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2571 และเปิดให้บริการปี 2574

อีกทั้งยังมีมาตรการส่งเสริมพลังงานทางเลือกในอนาคต สำหรับภาคขนส่ง โดยจะร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการศึกษาการนำไฮโดรเจน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการขนส่งสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสาร

รวมถึงการส่งเสริมการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมการบินด้วย เร่งก่อสร้างท่าเรือ เพิ่มประสิทธิภาพขนส่ง

นอกเหนือจากนี้กระทรวงคมนาคมยังเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนด้านการคมนาคมขนส่ง โดยการส่งเสริมการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจาก “ถนน” สู่ “รางและน้ำ”

ไม่ว่าการพัฒนาท่าเรือบก Container Yard (CY) และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บสินค้านาทา ซึ่งเป็นประตูการค้าสู่ สปป.ลาว และจีน

รวมถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อการนำเข้าและส่งออก เช่น ท่าเรือน้ำลึกที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2 โครงการ

เริ่มด้วยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 114,030 ล้านบาท ตามแผนจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถรับตู้สินค้า 18.1 ล้านทีอียู

การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 59,350 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในปี 2570 หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถรองรับสินค้าเหลว 31 ล้านตันต่อปี

“คมนาคม” ทุ่ม 2.68 ล้านล้าน ลุยพัฒนาระบบราง-ขยายสนามบิน กรีนโลจิสติกส์

หากโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและลดต้นทุนโลจิสติกส์

ที่สำคัญการพัฒนารูปแบบการขนส่งสินค้าทางน้ำ อย่างโครงการแลนด์บริดจ์ ระยะทาง 89.35 กม. วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในโครงการประกอบด้วย ท่าเรือ 2 ฝั่ง (จังหวัดชุมพร-ระนอง) ทางรถไฟ

และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ตามแผนจะต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... ( พ.ร.บ.SEC ) ควบคู่ไปพร้อมกัน คาดว่ามีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน 2568