KEY
POINTS
ที่ผ่านมา “การรถไฟแห่งประเทศไทย” หรือ รฟท. ได้เร่งรัดพัฒนาโครงการรถไฟทางไกล โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มอบหมายให้รฟท.ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากถนนสู่ระบบราง
ล่าสุด รฟท.ได้มีการปรับปรุงพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถไฟทางเดี่ยวให้เป็นรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ระบบรถไฟทางไกลของไทยที่ให้บริการในปัจจุบันเป็นทางรถไฟขนาดความกว้าง 1 เมตร มีระยะทางรวม 4,044 กม. ซึ่งในปี 2561 มีรถไฟทางเดี่ยว 91% และรถไฟทางคู่ 6% โดยตั้งเป้าภายในปี 2567 จะเพิ่มสัดส่วนชนิดทางรถไฟทางเดี่ยวอยู่ที่ 33% และรถไฟทางคู่ อยู่ที่ 65%
ปัจจุบัน รฟท.มีรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ที่เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงิน 10,673 ล้านบาท 2.รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 157 กม. วงเงิน 24,064 ล้านบาท ทั้ง 2 เส้นทางได้เปิดให้บริการเมื่อปี 2562 3.รถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 6,939 ล้านบาท ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2565
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 อีก 4 เส้นทาง อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ประกอบด้วย 1.รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 27,453 ล้านบาท ความก้าวหน้าประมาณ 96.3% โดยจะทยอยเปิดให้บริการ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ก่อน ภายในปี 2568 2.รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 20,679 ล้านบาท ความก้าวหน้าประมาณ 86.2% โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2568
3.รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. วงเงิน 18,502 ล้านบาท ความก้าวหน้าประมาณ 98.4% และ 4.รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 14,935 ล้านบาท ความก้าวหน้าประมาณ 98.7% โดยเปิดให้บริการ ช่วงบ้านคูบัว - สะพลี เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างก่อสร้างสถานี,ทางข้ามและชานชาลา โดยกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2567
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเหนือ-อีสาน จำนวน 2 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.รถไฟทางสายใหม่ ช่วงเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 322 กม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างความก้าวหน้าประมาณ 6.6% โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2571 2.รถไฟทางสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ความก้าวหน้าประมาณ 2.3% โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2570
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท ที่ผ่านมาครม.ได้อนุมัติดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับจ้าง คาดว่าเริ่มก่อสร้างภายในปี 2567
2.รถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท 3.รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,900 ล้านบาท 4.รถไฟทางคู่ ช่วงช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103 ล้านบาท โดยทั้ง 3 เส้นทาง คณะกรรมการ รฟท. มีมติเห็นชอบดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ขณะนี้รฟท. อยู่ระหว่างเตรียมเสนอครม. ภายในปี 2567
5.รถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,294 ล้านบาท 6.รถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ -สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 67,459 ล้านบาท 7.รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,837 ล้านบาท โดยทั้ง 3 เส้นทาง รฟท.เตรียมเสนอ ครม. ลำดับถัดไป
นอกจากนี้รฟท.ยังมีแผนศึกษาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายใหม่ในระยะต่อไป จำนวน 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,419 กม. เช่น 1.รถไฟทางคู่ ช่วงแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ 2.รถไฟทางคู่ ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 3.รถไฟทางคู่ ช่วงอุบลราชธานี-ช่องเม็ก 4.รถไฟทางคู่ ช่วงกาญจนบุรี-ชุมทางบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา 5.รถไฟทางคู่ ช่วงกาญจนบุรี-บ้านน้ำพุร้อน 6.รถไฟทางคู่ ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด 7.รถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง 8.รถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก 9.รถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น จ.พังงา 10.รถไฟทางคู่ ช่วงทับปุด-กระบี่ ฯลฯ
หากโครงการรถไฟสายใหม่ดำเนินการแล้วเสร็จ ส่งผลให้มีระยะทางให้บริการรถไฟเพิ่มขึ้นรวมระยะทางประมาณ 6,926 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งจะช่วยเพิ่มจังหวัดที่ทางรถไฟพาดผ่านจากเดิม 47 จังหวัด เป็น 61 จังหวัด ถือเป็นทางเลือกการเดินทางที่ประหยัดและปลอดภัย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านการเดินทางและขนส่ง พร้อมกับสร้างโอกาสทางธุรกิจ การค้า การลงทุน ตลอดจนการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังไม่มีทางรถไฟพาดผ่านมาก่อน