"ดิไอคอนกรุ๊ป" บริษัทเอกชนที่กำลังเป็นข่าวดัง ถูกร้องเรียนและกล่าวหาการชักชวนให้ร่วมลงทุน โดยมีการใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การอ้างอิงบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือดาราเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และนำไปสู่การเสียเงินลงทุนจำนวนมากของผู้ที่เข้าร่วม
ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงานของรัฐบาลที่เข้าตรวจสอบเรื่องนี้ อาทิ สคบ. ตำรวจ ปคบ.ฯ รวบรวมข้อมูลโดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ
บริษัทใช้การโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีการชักชวนให้คนทั่วไป รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการหรือผู้สูงอายุ มาร่วมลงทุนในธุรกิจ โดยสัญญาว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง
ผู้เสียหายจำนวนมากถูกชักชวนให้ลงทุน ถึงขั้นต้องไปกู้เงินหรือขายทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อนำเงินมาลงทุนกับบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้ามาร้องเรียนไม่สามารถทำกำไรหรือขายสินค้าได้จริง
มีการนำรูปภาพของดารา คนมีชื่อเสียงที่อ้างว่าเป็นผู้ลงทุน ไปใช้ในโฆษณาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นว่าบริษัทมีความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงผู้ลงทุนไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่บริษัทกล่าวอ้าง
หลังเกิดการร้องเรียนจำนวนมากผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. และ สคบ. ได้เข้าไปตรวจสอบสำนักงานของบริษัท เพื่อค้นหาข้อมูลการดำเนินธุรกิจและเก็บผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพื่อนำไปตรวจพิสูจน์
สถานะของคดี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ โดยต้องรอผลการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่เพื่อสรุปว่าบริษัทดังกล่าวมีการดำเนินธุรกิจที่ผิดกฎหมายอย่างไร และจะมีการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงวันที่ 15 ต.ค. 67ว่า กระทรวงการคลังจะเข้าไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ว่าผิดตามมาตรา 341 และมาตรา 342 หรือไม่ รวมทั้งจะดูข้อกฎหมายตาม “พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ควบคู่กัน
โดยจะดูทั้งการโฆษณา หรือจ่ายผลตอบแทนสูงกว่าสถาบันการเงินหรือไม่ หรือการนำเงินบุคคลอื่นมาจ่ายหมุนเวียนกับผู้มากู้ยืม และกิจการที่ประกอบนั้นชอบด้วยกฎหมายและต้องเห็นว่าผลประโยชน์จากการประกอบกิจการมีมากเพียงพอที่จะนำมาจ่ายได้หรือไม่
"กระทรวงการคลัง จะติดตามและดูว่าผลจากครั้งนี้จะต้องแก้ไขอะไรให้รัดกุมมากขึ้น หลังจากที่นายกฯ ได้มอบหมายให้มาดูเรื่องนี้แล้ว" นายพิชัย ระบุ
สำหรับ “พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527” ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2527 เป็นก้าวสำคัญตั้งแต่ยุคนั้น ในการจัดการกับการฉ้อโกงการกู้ยืมเงินที่แพร่หลาย ซึ่งนับเป็นภัยต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างมาก
จึงมีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันและจัดการกับการฉ้อโกงที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินในลักษณะที่เป็นแชร์ลูกโซ่หรือการระดมทุนผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก
กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการหลอกลวงประชาชนให้ร่วมลงทุนด้วยการล่อใจด้วยดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์สูงกว่าที่สามารถหามาได้จริง โดยกลุ่มผู้กระทำความผิดมักนำเงินจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่มาจ่ายผลประโยชน์ให้กับผู้ร่วมลงทุนรายเก่าในลักษณะที่ต่อเนื่อง และสุดท้ายมักทำให้ผู้ร่วมลงทุนไม่ได้รับเงินต้นคืน ส่งผลให้เกิดความเสียหายวงกว้าง
การกู้ยืมเงินตามกฎหมายนี้รวมถึงการรับเงินหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตร การเป็นสมาชิก หรือการร่วมลงทุน โดยที่ผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการรับหรือจ่ายในลักษณะใดก็ตาม กฎหมายฉบับนี้มีความครอบคลุมถึงทุกวิธีการในการกู้ยืม
ผลประโยชน์ตอบแทนในที่นี้หมายถึงเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ผู้กู้ยืมเงินจ่ายหรือจะจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบดอกเบี้ยหรือเงินปันผลก็ตาม
ผู้ใดที่ประกาศหรือโฆษณาการกู้ยืมเงินให้ปรากฏต่อบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนที่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด ถือว่ากระทำความผิดทางกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อผู้กู้รู้ว่าไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ ที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการจ่ายดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงการโฆษณา ชักชวนประชาชนให้ลงทุนในธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศหรือเก็งกำไรโดยไม่มีใบอนุญาตจากทางการ ถือว่าเป็นการกระทำผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายฉบับนี้
โทษสูงสุดของกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า "บุคคลที่กระทำผิดตามกฎหมายนี้ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาทถึง 1,000,000 บาท หากยังฝ่าฝืนจะถูกปรับเพิ่มอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน