thansettakij
สคบ.-คลัง รื้อกฎหมายขายตรง-ฉ้อโกง ปรับนิยาม-อุดช่องโหว่

สคบ.-คลัง รื้อกฎหมายขายตรง-ฉ้อโกง ปรับนิยาม-อุดช่องโหว่

23 ต.ค. 2567 | 02:25 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2567 | 02:30 น.

สคบ.เตรียมยกเครื่อง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง หลังจากใช้มานาน อาจไม่สอดคล้องปัจจุบัน คาดสรุปเร็ว ๆ นี้ ปรับคำนิยามให้ชัด อุดช่องโหว่ ขณะที่คลัง เล็งทบทวนพ.ร.ก. การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

KEY

POINTS

  • สคบ.ลุยปรับปรุง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 หลังใช้มานาน ธุรกิจเปลี่ยนไปมาก จนล่าสุดเกิดปม "ดิไอคอนกรุ๊ป" จนมีผู้เสียหายจำนวนมาก 
  • เนื้อหากฎหมาย พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง ที่กำลังปรับปรุง ได้เปิดประชาพิจารณ์ประเมินผลสัมฤทธิ์แล้ว คาดสรุปเร็ว ๆ นี้ เล็งปรับคำนิยามเพื่ออุดช่องโหว่
  • กระทรวงการคลัง เล็งทบทวนพ.ร.ก. การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หลังใช้มาตั้งแต่รุ่นการแชร์ลูกโซ่แม่ชม้อย เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ สคบ. กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 เพื่อกำกับดูแลธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก

สำหรับการทบทวนกฎหมายที่ผ่านมา สคบ. ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ล่าสุดอยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียดก่อนจะเสนอให้กับที่ประชุมคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงต่อไป

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สคบ. ได้ประเมินผลสัมฤทธิ์พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ไปแล้วเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นการทบทวนกฎหมายในฉบับที่มีผลบังคับใช้มาเกิน 5 ปี ให้สอคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นหลายประเด็น ทั้งกรณีนิยามของขายตรง และตลาดแบบตรง เรื่องของการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภทว่าเป็นอย่างไรทันต่อสถานการณ์ ณ ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

“ที่ผ่านมามีหลายองค์กรแสดงความเห็นเข้ามาอย่างหลากหลาย เกี่ยวกับการทบทวนพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง โดยเฉพาะประเด็นคำนิยามต่าง ๆ หรือการเสนอให้ยกเลิกนิติกรรมที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง ที่ให้คนซื้อขายของเอสเอ็มอี ต้องให้มาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน รวมไปถึงการกำหนดวงเงินหลักประกันด้วย ซึ่งคำนิยามต่าง ๆ ต้องชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่” แหล่งข่าวระบุ

 

ภาพประกอบข่าว สคบ. ยกเครื่อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ภาพประกอบข่าว สคบ. ยกเครื่อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545

 

อย่างไรก็ตามหลังจาก สคบ. เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรงแล้วนั้น สคบ.จะสรุปความคิดเห็นต่าง ๆ และในปี 2567 นี้ จะศึกษารายละเอียดของข้อกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอให้ทางคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง พิจารณาอีกครั้ง คาดว่า ในเร็ว ๆ นี้ จะมีความชัดเจน เพราะขณะนี้เกิดประเด็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่องและสังคมกำลังให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง

ปรับคำนิยามกฎหมาย

สำหรับเนื้อหาของพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ที่สคบ.ได้นำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น มีสาระสำคัญหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการกำหนดคำนิยามต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น

“ขายตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อ ผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้า เป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้นแต่ไม่รวมถึงนิติกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ตลาดแบบตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสาร ข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละราย ตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น ส่วนการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ในกฎกระทรวง

“ผู้จำหน่ายอิสระ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือบริการจาก ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและนำสินค้าหรือบริการดังกล่าวไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค

“ตัวแทนขายตรง” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ให้นำสินค้าหรือบริการไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค

 

ภาพประกอบข่าว สคบ. ยกเครื่อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ภาพประกอบข่าว สคบ. ยกเครื่อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545

 

ตั้งคณะกรรมการคุมเบ็ดเสร็จ

ขณะเดียวกันตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการ คณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง” ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่หลัก เช่น การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง 

พร้อมทั้งแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงด้วย ก็ได้
ห้ามล่อใจได้เงินหากหาคนร่วมเครือข่าย

เช่นเดียวกับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจ วางระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงการกำกับดูแลการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทั้งสองประเภท โดยต้องได้รับการจดทะเบียนโดยยื่นคำขอ ต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงกำหนด

ส่วนการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่ดำเนินกิจการ ในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น

 

สคบ.-คลัง รื้อกฎหมายขายตรง-ฉ้อโกง ปรับนิยาม-อุดช่องโหว่

 

ช่วยผู้บริโภคบอกยกเลิกสัญญาได้

ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในกรณีธุรกิจขายตรง การเข้าไปติดต่อเพื่อเสนอขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บริโภคหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้นก่อน และต้องไม่กระทำการอันเป็นการรบกวนหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่บุคคลดังกล่าว 

รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจ ขายตรงและผู้จำหน่ายอิสระต้องร่วมรับผิดต่อผู้บริโภคในความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือบริการที่ผู้จำหน่ายอิสระ ขายให้แก่ผู้บริโภคหรือความเสียหายที่ผู้จำหน่ายอิสระนั้นได้ก่อขึ้นจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จำหน่ายอิสระ

ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำเอกสารการ ซื้อขายสินค้าหรือบริการและส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการนั้นแก่ผู้บริโภคพร้อมกับสินค้าหรือบริการ เอกสารการซื้อขายต้องมีข้อความภาษาไทยที่อ่านเข้าใจง่าย โดยระบุชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย วันที่ซื้อขาย และวันที่ส่ง มอบสินค้าหรือบริการ รวมทั้งสิทธิของผู้บริโภคในการเลิกสัญญาซึ่งสิทธิเลิกสัญญาดังกล่าวต้องกำหนดด้วย ตัวอักษรที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป

นอกจากนี้ในการซื้อสินค้าหรือบริการจากการขายตรงหรือจากการขายผ่านตลาดแบบตรง ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยการส่งหนังสือแสดงเจตนาภายในเวลา 7 วันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจ 

สำหรับธุรกิจขายตรงผู้บริโภคจะแจ้งไปยังผู้จำหน่าย อิสระหรือตัวแทนขายตรงที่เกี่ยวข้องก็ได้ เมื่อผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืน เงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา หากไม่คืนเงิน ตามจำนวนและภายในกำหนดระยะเวลาต้องชำระเบี้ยปรับ

 

ภาพประกอบข่าว สคบ. ยกเครื่อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ภาพประกอบข่าว สคบ. ยกเครื่อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545

 

คลังพร้อมทบทวนกฎหมายฉ้อโกง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเข้าไปดูแลการปรับแก้ไขระเบียบกฎหมายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมบังคับใช้มานาน ถือว่าเก่ามาก ตั้งแต่รุ่นการแชร์ลูกโซ่แม่ชม้อย ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประชุมเรื่องดังกล่าวไปแล้ว และจะหารือร่วมกันเร็ว ๆ นี้ เพื่อปรับรูปแบบกฎหมายให้เท่าทันสถานการณ์ และเหตุการณ์ที่เป็นอยู่

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเข้าไปดูรายละเอียด และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร็วๆนี้ เรื่องกฎหมายพ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ซึ่งขณะนี้สศค. เป็นผู้ดูแลในขณะนี้ 

“มองว่าพ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ไม่ได้ล้าสมัยในบริบทปัจจุบัน แต่ต้องเข้าไปดูเรื่องการบังคับใช้กฎหมายหรือภาคปฏิบัติ เพื่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากสศค. เป็นผู้ร่างกฎหมาย แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ควรมาอยู่ที่สศค. เพราะเป็นหน่วยงานนโยบาย ไม่ใช่หน่วยงานปฏิบัติ” นายลวรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสศค.จะถือกฎหมายฉบับ แต่ไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวน ซึ่งจะต้องเป็นตำรวจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ฉะนั้น การที่จะดูแลผู้เสียหาย หน่วยงานที่ดูแลโดยตรง เช่น DSI ควรจะนำกฎหมายไปถือไว้โดยตรงที่กระทรวงยุติธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาร้องทุกข์ด้วย