ย้อนรอย แชร์ลูกโซ่ “ดิไอคอนกรุ๊ป” ไม่ใช่รายแรก

23 ต.ค. 2567 | 06:51 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2567 | 06:57 น.

ในอดีต “แชร์ลูกโซ่” คือ การระดมทุนจากประชาชน จูงใจด้วยผลตอบแทนสูง อ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรดี แต่ระยะหลังๆ แฝงมากับธุรกิจขายตรง แต่เน้นหาสมาชิกใหม่ เพื่อนำเงินจากรายใหม่ มาจ่ายรายเก่า จนถึงวันหนึ่งที่ไม่สามารถหมุนเงินได้ ที่สุดวงแชร์นั้นพังไป

“ดิ ไอคอนกรุ๊ป” ไม่ใช่ แชร์ลูกโซ่ รายแรก แต่หากนับความเสียหายข้อมูลจากตำรวจสอบสวนกลางที่ออกมาระบุว่า ยอดทั่วประเทศพุ่งกว่า 1.3 พันล้านบาทแล้ว และคาดว่า ยังมีผู้เสียหายที่ยังไม่เข้าแจ้งความยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากนับย้อนหลังไปจะพบว่า มีแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา 

แชร์แม่ชะม้อย

แชร์แม่ชะม้อย น่าจะเป็นคดีแรกๆ ที่ทำให้เกิดคำว่า แชร์ลูกโซ่ และเป็นที่มาของพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงปี พ.ศ.2525-2528 มีนางชม้อย ทิพย์โส อดีตพนักงานองค์การเชื้อเพลิงเป็น เป็นผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีนี้ มีผู้เสียหายมากกว่า 16,000 คน ความเสียหายสูงกว่า 4,000 ล้านบาท

โมเดลธุรกิจของนางชะม้อยคือ จัดตั้งบริษัทค้าน้ำมันและชักชวนแบบปากต่อปาก ให้คนที่สนใจ มาลงขันแบบกู้ยืม โดยอ้างให้ผลตอบแทนสูงเป็นรายเดือน มีนายทหารระดับสูง ถูกอ้างเป็นหนึ่งในผู้ลงทุน สร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ

จากการตรวจสอบ กลับพบว่า พฤติการณ์จริง ไม่ได้ประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ใช้วิธีนำเงินต้นและดอกเบี้ย ทยอยหมุนเวียน จ่ายเป็นผลตอบแทน ในอัตรา 6.5% ต่อเดือน จนกระทั่งไปต่อไม่ไหวในที่สุด 

"นางชม้อย จำคุกอยู่ในเรือนจำเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน เพราะได้รับการลดลงโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2536"

 

แชร์ชาร์เตอร์

แชร์ชาร์เตอร์ เกิดขึ้นระหว่างปี 2526-2528 ช่วงเดียวกับแชร์แม่ชะม้อย ผู้ต้องหาคนสำคัญคือ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของบริษัท ชาร์เตอร์ อินเวสต์เมนท์ จำกัด

โมดลธุรกิจก็เหมือนกับแม่ชะม้อย ที่เป็นการชักชวนให้คนนำเงินไปลงทุนซื้อสินค้าโภคภัณฑ์และเงินตราต่างประเทศมาเก็งกำไร แต่ให้ผลตอบแทนถึงเดือนละ 9% สูงกว่าแชร์แม่ชม้อยถึง 2.5 % ทำให้มีคนแห่นำเงินมาลงทุนทำธุรกิจจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นนายทหารกับนักการเมือง

วงแชร์นี้เติบโตสูงสุดช่วงต้นปี 2527 ซึ่งเป็นช่วงที่แชร์แม่ชม้อยถูกรัฐบาลเพ่งเล็งและหยุดรับเงินชั่วคราว แต่แชร์นี้ก็จะคล้ายแชร์ลูกโซ่อื่น ที่แรกๆ ก็สามารถจ่ายผลตอบแทนอันงดงามได้ แต่เมื่อนานไปก็ใกล้ถึงทางตัน

กลางปี 2528 นายเอกยุทธหลบหนีออกนอกประเทศ หลังมีข่าวว่า จะถูกออกหมายจับคดีฉ้อโกง ลูกแชร์ชาร์เตอร์นับพันคนเข้าร้องเรียนกับกองปราบปราม รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท

นายเอกยุทธเดินทางกลับไทยเมื่อคดีขาดอายุความแล้ว กลับมาโลดแล่นในวงการเมืองในกลางปี 2547 เพื่อขับไล่นายทักษิณ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะเปิดรหัส "ว.5 บนชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์” กระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี 2556 ด้วยสาเหตุถูกอุ้มฆ่า

แชร์บลิสเชอร์

แชร์บลิสเชอร์ ก่อตั้งโดยบริษัท บลิสเชอร์อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ในปี 2534 เพื่อดำเนินธุรกิจในรูปการจัดสรรวันพักผ่อนให้สมาชิกแบบเฉลี่ยสิทธิปีละ 4 วัน 4 คืน ตามชื่อโรงแรมหรือที่พักที่บริษัทกำหนดไว้ 14 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 20 ปี

"จะแบ่งสมาชิกออกเป็น 2 ประเภท หรือบัตรเงิน เสียค่าสมาชิก 30,000 บาท และบัตรทอง เสียค่าสมาชิก 60,000 บาท" 

ธุรกิจแท้จริงของบริษัทบลิชเชอร์ ไม่ใช่การรับสมัครสมาชิกธรรมดา แต่เป็นการให้ไปหาสมาชิกเพิ่มให้ครบจำนวน แล้วจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามจำนวนสมาชิกที่หาได้ ตั้งแต่ 20-45% ซึ่งพบว่า มีผู้เข้าร่วมธุรกิจนี้เกือบ 3,000 คน รวมเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท 

ที่สุดแชร์วงนี้ก็ล่มสลาย เพราะบลิสเชอร์ไม่มีสถานที่พักของตัวเอง แค่ทำสัญญากับบริษัทหนึ่งให้เป็นผู้จัดหาสถานที่พักให้ และโรงแรมหรือสถานที่พักก็ไม่สามารถรับลูกค้าตามสัญญากับบลิสเชอร์ได้ เป็นเพียงการลดราคาให้เท่านั้น 

"เมื่อปี 2556 ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินให้จำคุกผู้เกี่ยวข้องกับแชร์บลิสเชอร์เป็นเวลา 120,945 ปี ขณะที่จำเลยบางส่วนยังคงหลบหนี"

แชร์ยูฟัน

แชร์ยูฟัน เมื่อปี 2558 ตำรวจเข้าตรวจค้นบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ถูกบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด อ้างว่า ได้ทำสัญญาผลิตและซื้อขายสินค้า 

ผลจากการตรวจค้นกลับพบว่า ไม่ได้มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง และยังพบว่า การยื่นขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงของ บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัดกับ สคบ. เมื่อปี 2556 เพื่อการจำหน่าย เครื่องดื่ม 2 รายการ และเครื่องสำอาง 1 รายการ ไม่ได้มีสินค้าจริง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของไลน์ธุรกิจทั้งหมด  

ผลจากการสืบสวนในคดีนี้ ยังพบว่า รูปแบบธุรกิจของยูฟัน ไม่ได้มุ่งทำกำไรจากสินค้าเหมือนธุรกิจขายตรงทั่วไป แต่กลับใช้ระบบการซื้อขายออนไลน์ ที่บริษัทอ้างว่า เป็นธุรกิจแบบ อี-คอมเมิร์ซ และสร้างคูปองดิจิทัลเข้ามา เพื่อใช้เป็นจุดดึงดูดคนลงทุน 

กลลวงของคดีนี้ ถือว่ามีพัฒนาถึงขั้นสร้างแพลตฟอร์ม เว็บไซต์หน้าร้าน และใช้สิ่งที่เรียกว่า “ยูโทเคน” แบ่งระดับ เพื่อแลกกับการได้คะแนนส่วนลด ซึ่งการสร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านเอกสารการจดทะเบียน ระบบเว็บไซต์ สกุลเงินดิจิทัล ทำให้คดีนี้มีผู้หลงเชื่อกว่า 2,400 คน

ศาลฎีกาตัดสินให้จำคุกแม่ข่ายกับพวกรวม 5 คน คนละ 20 ปี ยกฟ้อง 11 คน

ส่วนจำเลยที่เหลือ สั่งชดใช้เงิน 356 ล้านบาท ให้กับผู้เสียหาย ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และ ปปง.ตามยึดทรัพย์ เพื่อทยอยคืนให้ผู้เสียหาย 

แชร์แม่มณี

แชร์แม่มณี เกิดขึ้นใน 2561 โดยน.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช หรือ “แม่มณี” ได้ตั้งโปรเจ็กท์ออมเงินขึ้นชื่อว่า “ฝากเงิน ออมเงิน by บัญชีแม่มณี” แล้วชักชวนคนอื่นๆ มาร่วมฝากเงินเป็นการลงทุน โดยคนที่สนใจ สามารถฝากเงินกับโครงการ วงละ 1,000 บาท แล้วจะได้รับผลกำไรกลับคืนเป็นเงิน 930 บาทหรือ คิดเป็นดอกเบี้ย 93% ในเดือนต่อมา โดยไม่มีการจำกัดวงเงินฝาก 

สิ่งที่ทำให้คนหลงเชื่ออย่างง่ายดาย เพราะเฟซบุ๊กของแม่มณี จะแอบอ้างเป็นผู้จัดละครช่องดัง เป็นผู้จัดภาพยนตร์ และเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง จนทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก เนื่องจากการลงทุนในช่วงแรกได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืนจริง แต่เมื่อทุ่มเงินลงทุนมากขึ้นกลับไม่ได้รับเงินคืน

สุดท้าย “แม่มณี” ปิดทุกช่องทางการติดต่อ โดยมีผู้เสียหายจากแชร์แม่มณีกว่า 2,300 ราย วงเงินความเสียหายสูงกว่า 1,300 ล้านบาท

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก “แม่มณี-สามี” จำนวน 12,640 ปี ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ และข้อหาอื่น แต่สุดท้ายเหลือคุกแค่ 20 ปี ตามกฎหมาย 

แชร์ Forex3D

แชร์ Forex3D  ฮือฮาไม่แพ้ดิ ไอคอนกรุ๊ป เพราะมีดารา นักแสดง บุคคลมีชื่อเสียงเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และหลายคนต้องเข้าไปอยู่เรือนจำนานเป็นเดือน

คดีนี้ใช้โมเดลเทรดเดอร์ ซึ่งมีอยู่จริง มาสร้างแพลตฟอร์มใหม่เพื่อซื้อขายหรือ เทรดเงินตราต่างประเทศ และรับประกันเงินลงทุนตามสัญญา ซึ่งการเห็นอัตราการขึ้นลงของกำไร ผ่านหน้าจอแบบเรียลไทม์ ยิ่งสนับสนุนให้เกิดความน่าเชื่อถือ

คดีนี้สร้างความเสียหาย มากกว่า 2 ,400 ล้านบาท ประเมินจากจำนวนผู้เสียหายกว่า 9,000 คน ซึ่งคดี Forex3D ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องหาสามารถต่อสู้ได้


แม้รูปแบบ แต่ละคดี จะแตกต่างกันออกไป แต่ตำรวจบอกว่า มักจะมีจุดร่วมที่จับสังเกตได้ว่า รูปแบบแชร์ต่างๆที่เกิดขึ้น ล้วนอยู่บนความโลภ ความอยากรวยทางลัด หรือความหวัง

โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนตกงานต้องหาอาชีพเสริม และสร้างความหวังให้กับอาชีพใหม่ จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อกลลวงเหล่านี้ได้

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,038 วันที่ 24 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2567